วันที่ 7 มกราคม 2568 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช และ Co-host 26 สถาบัน จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “Triple Burden of Diseases : Nurse-Led Game Changer to Optimize the Outcomes of Care” ขึ้น ระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2568 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการจัดการภาระโรคซ้ำซ้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดงานและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการภาระโรคซ้ำซ้อน และบทบาทสำคัญของพยาบาลในการนำพาการเปลี่ยนแปลงและยกระดับการดูแลสุขภาพของประชาชน
รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางการจัดการภาระโรคซ้ำซ้อน โดยมุ่งเน้นการใช้ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งส่งเสริมให้พยาบาลได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลจากหลากหลายสถาบันทั่วโลก เพื่อร่วมกันพัฒนาการดูแลประชาชนและจัดการภาระโรคซ้ำซ้อนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ภายในงานประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีผู้สนใจตอบรับร่วมงานกว่า 450 คนทั่วโลก ประกอบด้วย คณาจารย์ พยาบาลวิชาชีพ นักศึกษาพยาบาล จากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์และพยาบาลจากนานาประเทศ อาทิ Dr. Leslie D. Mancuso, President & CEO of Jhpiego องค์กรอิสระเอกชนชั้นนำทางสุขภาพ, ศาสตราจารย์ ดร.นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ (มศธส.), ศาสตราจารย์ ดร.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ, Prof. Patricia Davidson Vice-Chancellor Fellow, University of New South Wales, Australia และศาสตราจารย์ ดร.ศิริอร สินธุ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลอีกมากมาย
รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร กล่าวเสริมว่า พยาบาลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาระโรคซ้ำซ้อน และเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา โดยสามารถประเมินสภาพผู้ป่วยและวางแผนการดูแลที่เหมาะสม สามารถให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเอง รวมถึงประสานงานกับทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลได้อย่างครอบคลุม
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการดูแลสุขภาพของประเทศไทยและทั่วโลก เป็นการตอกย้ำบทบาทของพยาบาลในการเป็นผู้นำในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับมือกับปัญหาภาระโรคซ้ำซ้อนที่ซับซ้อนและท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและแนวทางการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต