วันที่ 20 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และพลโทชำนาญ ช้างสาต กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อผลิตรายการ “1 นาทีกับพยาบาลมหิดล” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัตติมา ศิริโหราชัย หัวหน้าโครงการฯ รองศาสตราจารย์วีรยา จึงสมเจตไพศาล รองคณบดีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภัค เภตราสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร รองศาสตราจารย์ ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คุณทวินันท์ คงคราญ รองผู้อำนวยการใหญ่ ด้านการสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร และผู้บริหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมเพชรรัตน ชั้น 3 อาคารพระศรีพัชรินทร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย
ในการนี้ พลโทชำนาญ ช้างสาต และผู้บริหารของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ณ ลานอเนกประสงค์ คณะพยาบาลศาสตร์ สักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สักการะพระรูปหล่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช
รองศาสตราจารย์ ดร.เอมพร รตินธร เปิดเผยว่า รายการ “1 นาทีกับพยาบาลมหิดล” เป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารของคณะพยาบาลศาสตร์ ที่จะสื่อสารข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพจากองค์ความรู้ของคณาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ให้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชากรทุกช่วงวัย รายการ “1 นาทีกับพยาบาลมหิดล” จะออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.5 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.00–9.00 น. โดยจะออกอากาศเทปแรกในวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 และจะเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์ของสถานี รวมถึงสื่อต่างๆ ของคณะพยาบาลศาสตร์ การผลิตรายการ “1 นาทีกับพยาบาลมหิดล” ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ที่ได้ร่วมกันผลิตและเผยแพร่ข้อมูลทางสุขภาพที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน ผลลัพธ์ที่คาดหวัง คือ ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับประชากรในทุกช่วงวัย ซึ่งนับเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ และเป็นสิ่งที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องการขับเคลื่อนให้บรรลุผลในอนาคตต่อไป