เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช จัดประชุมวิชาการนานาชาติ "Challenges in NCDs management to achieve the SDGs in the COVID -19 era and beyond" มีขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2565 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวรายงาน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-communicable diseases (NCDs) นี้ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความซับซ้อนและความท้าทายสำหรับผู้ให้บริการสาธารณสุขในการบริหารจัดการกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นนโยบายการขับเคลื่อนที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาล จึงมีความสำคัญในการบริหารจัดการ และดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในการลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การจัดการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือที่เป็นพันธมิตรอย่างแข็งแกร่ง การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการก้าวไปสู่เป้าหมายที่มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งไว้
รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงการประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศว่าปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก โดย 3 ใน 4 ของกลุ่มโรคนี้ถูกพบในประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งประชากรของไทยประมาณ14 ล้านคน ป่วยเป็นโรคดังกล่าว และเสียชีวิตถึง 300,000 คนต่อปี และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีผลระยะยาวต่อสุขภาพและมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมความรู้ เพื่อที่จะจัดการกับโรคให้บรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติระบุไว้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทำให้ลดได้ประมาณร้อยละ 25 จึงจำเป็นต้องให้ความสนใจกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นอย่างมาก
รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความท้าทายในการจัดการกลุ่มโรคนี้ เพราะจะพบว่ากลุ่มคนโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีความเสี่ยงติดโควิด-19 แล้ว อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อล็อกดาวน์ไม่สามารถออกไปเลือกอาหารหรือออกกำลังกายได้ ทำให้โรครุนแรงขึ้นมากเช่นกัน จึงเกิดเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการกลุ่มโรคดังกล่าว เป็นที่มาว่าคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชฯ และฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ได้เล็งเห็นความสำคัญปัญหาการจัดการของโรค
"เป้าหมายของการประชุมที่สำคัญ คือ เราต้องเข้าใจว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นโยบายการจัดการโรคเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราคาดหวังให้ผู้เข้าประชุมได้องค์ความรู้ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับหน่วยงานที่ทำงานอยู่ และอยากให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างวิชาชีพทั้งในประเทศด้วยกันเอง และนอกประเทศด้วย เพื่อให้เกิดความร่วมมือ แก้ปัญหาโรคติดต่อไม่เรื้อรังในอนาคต อย่างไรก็ตาม งานที่จัดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับบุคลากรทุกฝ่าย ไม่เฉพาะพยาบาลเท่านั้น ทุกคนที่ได้ร่วมงานได้เพิ่มเติมและแลกเปลี่ยนความรู้ นำไปปรับใช้กับโรคอุบัติใหม่ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงบุคลากรจะได้เตรียมรับมือและพัฒนาร่วมกันให้ประชาชนมีความสุข" รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ กล่าว
สำหรับการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนในหัวข้อต่างๆ อาทิ Dr. Pem Namgyal The Director of Programme Management (DPM) องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก (SEARO) พูดถึงการฟื้นฟูและพัฒนาระบบบริการสุขภาพจากสถานการณ์โควิด-19 Prof. Patricia Davidson, Ph.D.,Med, RN., FAAN จาก University of Wollongong ประเทศออสเตรเลีย พูดถึงเป้าหมาย SDGs การพัฒนาที่ยั่งยืนและความเชื่อมโยงในเรื่องความเหลื่อมล้ำความเท่าเทียมในสังคม ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) พูดถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาผลลัพธ์ในการดูแลคนไข้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่ามากที่สุด Prof. Cheryl Dennison Himmelfarb, Ph.D., RN., ANP., FAAN จาก Johns Hopkins School of Nursing ประเทศสหรัฐอเมริกา พูดเรื่องการแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาหลังจากวิทยากรได้เคยใช้กลยุทธ์และมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความดันโลหิต ที่มีความแตกต่างไม่เท่าเทียมกันในการรักษา เราจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างไร และ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พูดถึงความท้าทายของคนในสังคมเมืองในเรื่องการจัดการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโรงพยาบาลจะปรับตัวอย่างไร จะนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดอย่างไร ให้กลุ่มคนเมืองกลายเป็นกลุ่มที่รักสุขภาพมากขึ้นและยั่งยืน
website: https://ns.mahidol.ac.th/ncd2022 |