ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: | หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลปริศัลยกรรม |
ภาษาอังกฤษ: | Program of Nursing Specialty in Perioperative Nursing |
ชื่อประกาศนียบัตร
ชื่อเต็ม: | ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลปริศัลยกรรม |
Certificate of Nursing Specialty in Perioperative Nursing | |
ชื่อย่อ: | ป. การพยาบาลปริศัลยกรรม |
Cert. in Periop. Nsg. |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
๑) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
๒) งานการพยาบาลผ่าตัด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันศาสตร์และเทคโนโลยีทางด้านศัลยกรรม มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านสุขภาพของประเทศ ความต้องการบริการสุขภาพของสังคมเปลี่ยนไป ทำให้พยาบาลห้องผ่าตัดต้องมีการพัฒนาศักยภาพด้วยความคิด สติปัญญา ความรู้ และทักษะทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความชำนาญในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและให้การพยาบาลแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด สามารถปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ให้บริการพยาบาลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งปกป้องและพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดและครอบครัว สามารถปฏิบัติงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลที่ผลิตบุคลากรทางการพยาบาลพื้นฐาน และผลิตพยาบาลที่มีความชำนาญเฉพาะทางมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๒เป็นต้นมา จึงได้จัดทำหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลปริศัลยกรรม เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของพยาบาลห้องผ่าตัดทางด้านความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะในการดูแลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้มารับบริการและการเปลี่ยนแปลงของระบบบริการสุขภาพในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ทั่วไป
ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการพยาบาลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด และการตรวจพิเศษด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งมีปัญหาซับซ้อนในการดูแลสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพในทุกระยะของการผ่าตัด สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม ประสานงาน ปฏิบัติงานร่วมกับสหวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์เฉพาะ
ภายหลังสำเร็จการศึกษา ผู้เข้ารับการอบรมสามารถ
๑) วิเคราะห์นโยบายสุขภาพระบบบริการสุขภาพของประเทศและบทบาทของพยาบาลในการดูแลอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมในการพยาบาล ปริศัลยกรรมได้ ๒) อธิบายบทบาทของพยาบาลห้องผ่าตัดในการบริหารจัดการในห้องผ่าตัดได้ ๓) วิเคราะห์ความเสี่ยง และระบบบริหารจัดการความเสี่ยงในห้องผ่าตัดมีทักษะการป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อในห้องผ่าตัดโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ได้ ๔) มีทักษะในการประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้มารับการผ่าตัดและครอบครัว วางแผนการพยาบาล และปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวม และต่อเนื่องในทุกระยะของการผ่าตัดบนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ ๕) มีทักษะในการเตรียมการใช้และดูแลรักษาเครื่องมือพิเศษที่ใช้ในศัลยกรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๖) ประสานงาน และปฏิบัติงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์และพยาบาลสาขาอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๗) วิเคราะห์ปัญหาในการปฏิบัติการพยาบาลและจัดทำโครงการกิจกรรมพัฒนา คุณภาพ/แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร | ๑๕ | หน่วยกิต |
ภาคทฤษฎี | ๑๕ | หน่วยกิต |
ภาคปฏิบัติ | ๕ | หน่วยกิต |
รายวิชาในหลักสูตร
วิชาแกน | ||
จำนวน ๒ หน่วยกิต (๑ รายวิชา) | ||
พยคร ๖๒๗ | วิชานโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำ | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 627 | Health Policy and Leadership |
วิชาบังคับเฉพาะสาขา | ||
จำนวน ๒ หน่วยกิต (๑ รายวิชา) | ||
พยศศ ๕๐๖ | การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง และการตัดสินทางคลินิก | ๒ (๑-๒-๓) |
NSSU 506 | Advanced Health Assessment and Clinical Judgement |
วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา | ||
จำนวน ๒ หน่วยกิต (๒ รายวิชา) | ||
ภาคทฤษฎี | ||
พยศศ ๕๐๗ | การพยาบาลปริศัลยกรรม ๑ | ๓ (๓-๐-๖) |
NSSU 507 | Perioperative Nursing I | |
พยศศ ๕๐๘ | การพยาบาลปริศัลยกรรม ๒ | ๓ (๓-๐-๖) |
NSSU 508 | Perioperative Nursing II | |
ภาคปฏิบัติ | ||
พยศศ ๕๘๕ | ปฏิบัติการพยาบาลปริศัลยกรรม ๑ | ๓ (๐-๑๒-๓) |
NSSU 585 | Perioperative Nursing Practicum I | |
พยศศ ๕๘๖ | ปฏิบัติการพยาบาลปริศัลยกรรม ๒ | ๒ (๐-๘ -๒) |
NSSU 586 | Perioperative Nursing Practicum II |
รายละเอียดรายวิชา
พยคร ๖๒๗ NSID 627 |
นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำ Health Policy and Leadership |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
นโยบายสุขภาพ ปัญหาและแผนพัฒนากำลังคนทางการพยาบาล กฎหมาย ข้อกำหนด และประเด็นจริยธรรมในระบบสุขภาพ เศรษฐศาสตร์สุขภาพและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพในระบบสุขภาพ ทฤษฎีและการพัฒนาสมรรถนะผู้นำ
วิชาบังคับเฉพาะสาขา
พยศศ ๕๐๖ NSSU 506 |
การประเมินภาวะสุขภาพ Health Assessment |
๒ (๑-๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
การประเมินภาวะสุขภาพทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม วิญญาณ ความสามารถในการทำหน้าที่ และการเรียนรู้ การซักประวัติ การประเมินภาวะสุขภาพและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการใช้เครื่องมือตรวจพิเศษที่จำเป็น การแปลผล เพื่อการตัดสินทางคลินิก การบันทึกผลการประเมินภาวะสุขภาพ
วัตถุประสงค์ทั่วไป
ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการประเมินภาวะสุขภาพในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดการใช้เครื่องมือตรวจพิเศษที่จำเป็น การแปลและบันทึกผล
วิชาความรู้ ความชำนาญเฉพาะสาขา
พยศศ ๕๐๗ NSSU 507 |
การพยาบาลปริศัลยกรรม ๑ Perioperative Nursing I |
๓ (๓-๐-๖) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
มโนทัศน์การพยาบาลปริศัลยกรรม การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในห้องผ่าตัด ความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงในห้องผ่าตัด การให้ยาระงับความรู้สึก การประเมินภาวะสุขภาพผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด การพยาบาลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดแบบองค์รวมและต่อเนื่องในทุกระยะของการผ่าตัดโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความต้องการการดูแลพิเศษ การพยาบาลผู้ป่วยนอกที่รับการผ่าตัด การช่วยฟื้นชีวิตขั้นสูง และการบริหารจัดการในห้องผ่าตัด
พยศศ ๕๐๘ NSSU 508 |
การพยาบาลปริศัลยกรรม ๒ Perioperative Nursing II |
๓ (๓-๐-๖) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
การผ่าตัด การตรวจวินิจฉัยพิเศษทางศัลยกรรม และนวัตกรรมการผ่าตัดในระบบต่าง ๆ การพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดระบบต่าง ๆ บทบาทพยาบาลในนวัตกรรมการผ่าตัดและการปลูกถ่ายอวัยวะ
พยศศ ๕๘๕ NSSU 585 |
ปฏิบัติการพยาบาลปริศัลยกรรม ๑ Perioperative Nursing Practicum I |
๓ (๐-๑๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ฝึกปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวมในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก และครอบครัว โดยใช้กระบวนการพยาบาลที่ครอบคลุมระยะก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัดในห้องพักฟื้นที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง คำนึงสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัว การเยี่ยมผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัด การทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการบริการพยาบาลในห้องผ่าตัด
พยศศ ๕๘๖ NSSU 586 |
ปฏิบัติการพยาบาลปริศัลยกรรม ๒ Perioperative Nursing Practicum II |
๓ (๐-๑๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดที่มีปัญหาซับซ้อนและใช้นวัตกรรมทางศัลยกรรมในหน่วยผ่าตัดที่เลือกสรร และการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยประยุกต์ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ การดูแลต่อเนื่อง กระบวนการพยาบาลแบบองค์รวมในทุกระยะของการผ่าตัด การดูแลรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในนวัตกรรมทางศัลยกรรมการวางแผนกิจกรรมพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติการพยาบาลปริศัลยกรรม
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
คุณสมบัติทั่วไป
๑) เป็นผู้มีความประพฤติดี มีความรับผิดชอบ
๒) ไม่เป็นโรคที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
คุณสมบัติเฉพาะ
๑) เป็นพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งจากสภาการพยาบาล
๒) ปฏิบัติงานในห้องผ่าตัดมาแล้วอย่างน้อย ๒ ปี
๓) ผ่านการคัดเลือกจากคณะพยาบาลศาสตร์
เกณฑ์การประเมินผลและการสำเร็จการศึกษา
การประเมินผล ในรายวิชาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
ภาคทฤษฎี ประเมินผลจาก การสอบข้อเขียน การสัมมนา และรายงาน
ภาคปฏิบัติ ประเมินผลจากการฝึกปฏิบัติงาน รายงานการศึกษาผู้ป่วยเฉพาะราย แผนจัดทำโครงการ/กิจกรรมพัฒนาคุณภาพ และการนำเสนอ
การสำเร็จการศึกษา
ในการสำเร็จการศึกษาอบรม ผู้เข้าอบรมจะต้องมีระยะเวลาในการศึกษาอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีระยะของการฝึกปฏิบัติไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ชั่วโมง และต้องผ่านการประเมินผลการเรียนด้วยเกรดเฉลี่ย (GPA) ในทุกวิชาไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ และเกรดเฉลี่ยตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐
Copyright © 2022 -Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. Webmaster: nswww@mahidol.ac.th