ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: | หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลออร์โธปิดิกส์ |
ภาษาอังกฤษ: | Program of Nursing Specialty in Orthopaedic Nursing |
ชื่อประกาศนียบัตร
ชื่อเต็ม: | ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลออร์โธปิดิกส์ |
Certificate of Nursing Specialty in Orthopaedic Nursing | |
ชื่อย่อ: | ป.การพยาบาลออร์โธปิดิกส์ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กลุ่มภารกิจด้านการพยาบาล โรงพยาบาลเลิดสิน
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันศาสตร์และเทคโนโลยีทางด้านศัลยกรรมกระดูกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดจนการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านสุขภาพของประเทศ ความต้องการบริการสุขภาพของสังคมเปลี่ยนไป ทำให้พยาบาลต้องมีการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ และทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความชำนาญในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคทางออร์โธปิดิกส์แบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง สามารถปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ให้บริการพยาบาลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งปกป้องและพิทักษ์สิทธิ์ผู้ป่วยที่มารับการรักษาและครอบครัวสามารถปฏิบัติงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลที่ผลิตบุคลากรทางการพยาบาล และผลิตพยาบาลที่มีความชำนาญเฉพาะทาง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นต้นมา และโรงพยาบาลเลิดสินเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคข้อและกระดูก และได้จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นการพยาบาลทางออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู มาแล้วจำนวน ๓๐ รุ่น และปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูก เอ็น กล้ามเนื้อและข้อเพิ่มมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญของการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ จึงได้ร่วมจัดทำหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลออร์โธปิดิกส์ เพื่อสร้างพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการทางการพยาบาล ประยุกต์พัฒนานวัตกรรมโดยใช้ผลงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดูแลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ที่มารับการรักษาและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเลิดสินได้ร่วมดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางการพยาบาลออร์โธปิดิกส์มาแล้วจำนวน ๕ รุ่น เป็นระยะเวลา ๕ ปี ตามที่สภาการพยาบาลได้อนุมัติหลักสูตรดังกล่าวซึ่งจาการประเมินผลการจัดการศึกษาอบรม พบว่าผู้เข้าศึกษาอบรมทุคนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ได้อย่างมีความมั่นใจและมีประสบการณ์มากขึ้น ดังนั้นคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลเลิดสินจึงเห็นตรงกันว่าการดำเนินการพัฒนาหลักสูตร เพื่อจัดการศึกษาอบรมแก่พยาบาลจากหน่วยงานที่มีความต้องการพยาบาลที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา อันเป็นการตอบสนองนโยบายและความต้องการของสังคมและประเทศชาติ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ทั่วไป
ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจนโยบายและระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการให้การพยาบาลแบบองค์รวมแก่ผู้ป่วยที่มารับการรักษาทางออร์โธปิดิกส์ รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพ โดยการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ได้อย่างถูกต้อง สามารถจัดการทางการพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว ประสานงานและปฏิบัติงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพและเครือข่าย เพื่อให้มีการดูแลต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัตถุประสงค์เฉพาะ
ภายหลังสำเร็จการศึกษาอบรม ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมสามารถ
๑) อธิบายนโยบายสุขภาพ แผนพัฒนาสาธารณสุข และบทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ ที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพได้ ๒) วิเคราะห์ปัญหาและพยาธิสรีรภาพของผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ที่เกิดจากการบาดเจ็บของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นประสาทและไขสันหลัง รวมทั้งปัญหาจากความพิการ ความเสื่อม การติดเชื้อ เนื้องอก และความผิดปกติจากการเผาผลาญได้ ๓) อธิบายแนวทางการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ได้ ๔) มีทักษะทางการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ในการประเมินภาวะสุขภาพ วิเคราะห์ปัญหา วางแผนการพยาบาล ปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวมและต่อเนื่องบนพื้นฐานของการจัดการข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ และฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ได้ ๕) จัดทำโครงการ/ นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ได้ ๖) ประสานงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ตลอดจนประสานกับเครือข่าย ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์อย่างต่อเนื่องได้ ๗) วางแผนจัดการทางการพยาบาลเพื่อการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ได้ ๘) จัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร | ๑๕ | หน่วยกิต |
โครงสร้างหลักสูตรมีดังนี้ | ||
ภาคทฤษฎี | ๑๐ | หน่วยกิต |
(๑๖๕ ชั่วโมง) | ||
ภาคปฏิบัติ | ๕ | หน่วยกิต |
(๓๐๐ ชั่วโมง) |
ภาคทฤษฎี
จำนวน ๑๐ หน่วยกิต ๔ รายวิชา
วิชาแกน | ||
จำนวน ๒ หน่วยกิต (๑ รายวิชา) | ||
พยคร ๕๔๐ | นโยบายสุขภาพและการพยาบาล | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 540 | Health Policy and Nursing |
วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา | ||
จำนวน ๘ หน่วยกิต (๓ รายวิชา) | ||
พยคร ๕๑๐ | การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงทางออร์โธปิดิกส์ | ๒ (๑-๒-๓) |
NSID 510 | Advanced Health Assessment in Orthopaedics | |
พยศศ ๕๑๑ | การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์จากการบาดเจ็บ | ๓ (๓-๐-๖) |
NSSU 511 | Traumatic Orthopaedic Nursing | |
พยศศ ๕๑๒ | การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์ที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ | ๓ (๓-๐-๖) |
NSSU 512 | Non-traumatic Orthopaedic Nursing |
ภาคปฏิบัติ
จำนวน ๕ หน่วยกิต ๒ รายวิชา
พยศศ ๕๘๗ | ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์จากการบาดเจ็บ | ๒ (๐-๘-๒) |
NSSU 587 | Traumatic Orthopaedic Nursing Practicum | |
พยศศ ๕๘๘ | ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์ที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ | ๓ (๐-๑๒-๓) |
NSSU 588 | Non-traumatic Orthopaedic Nursing Practicum |
รายละเอียดรายวิชา
พยคร ๕๔๐ NSID 540 |
นโยบายสุขภาพและการพยาบาล Health Policy and Nursing |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ระบบสุขภาพ เศรษฐศาสตร์และระบบค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ รูปแบบการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง กระบวนการจัดการ การประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาล กระบวนการทำงานเป็นทีม และการสื่อสารเพื่อคุณภาพการรักษาพยาบาล
พยคร ๕๑๐ NSID 510 |
การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงทางออร์โธปิดิกส์ Advanced Health Assessment in Orthopaedic |
๒(๑-๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิด หลักการ การประเมินภาวะสุขภาพ ทั้งทางกาย จิต สังคม การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจเฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ การตรวจพิเศษที่เกี่ยวข้อง การแปลผลการตรวจ และการบันทึกผลการประเมินภาวะสุขภาพผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์
พยศศ ๕๑๑ NSSU 511 |
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์จากการบาดเจ็บ Traumatic Orthopaedic Nursing |
๓(๓-๐-๖) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิด หลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาการบาดเจ็บของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นประสาทและไขสันหลัง และความรู้ทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู รวมทั้งศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ปัญหา การวินิจฉัย การวางแผน การจัดการการพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การป้องกันการบาดเจ็บ
พยศศ ๕๑๒ NSSU 512 |
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์ที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ Non-traumatic Orthopaedic Nursing |
๓(๓-๐-๖) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิด และหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับการพยาบาลผู้ป่วยทุกวัยที่เป็นโรคทางออร์โธปิดิกส์ที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ ได้แก่ การเสื่อม การอักเสบ การติดเชื้อ เนื้องอก ความพิการและความผิดปกติจากการเผาผลาญ และความรู้พื้นฐานทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู รวมทั้งศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ปัญหา การวางแผนการพยาบาลแบบองค์รวมแก่ผู้ป่วยและครอบครัวในการป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย
พยศศ ๕๘๗ NSSU 587 |
ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์จากการบาดเจ็บ Traumatic Orthopaedic Nursing Practicum |
๒(๐-๘-๒) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
การใช้กระบวนการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ในการปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวม การจัดการการพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ และการป้องกันการบาดเจ็บ ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์จากการบาดเจ็บของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นประสาท และไขสันหลัง
พยศศ๕๘๘ NSSU 588 |
ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์จากการบาดเจ็บ Non-Traumatic Orthopaedic Nursing Practicum |
๓(๐-๑๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ฝึกปฏิบัติการใช้กระบวนการพยาบาลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวม การฟื้นฟูสภาพ และการป้องกัน ในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางออร์โธปิดิกส์ที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ ได้แก่ การเสื่อม การอักเสบ การติดเชื้อ เนื้องอก ความพิการและความผิดปกติจากการเผาผลาญ
ระยะเวลาการศึกษาอบรม
กำหนดระยะเวลาการศึกษาอบรม ๔ เดือน ๑๖ สัปดาห์
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
คุณสมบัติทั่วไป
๑) เป็นผู้มีความประพฤติดี ประวัติการทำงานดี มีความรับผิดชอบ
๒) ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
๓) มีใบรับรองจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้นและได้รับการอนุมัติให้ลาศึกษาต่อจากผู้บังคับบัญชา ของหน่วยงานนั้นๆ เต็มเวลา
คุณสมบัติเฉพาะ
๑) เป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตรในวิชาชีพการพยาบาล และได้รับใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จากสภาการพยาบาล
๒) เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี
๓) ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก
การสำเร็จการศึกษา
ในการสำเร็จการศึกษาอบรม ผู้เข้าอบรมจะต้องมีระยะเวลาในการศึกษาอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีระยะเวลาของการฝึกปฏิบัติไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ชั่วโมง และต้องผ่านการประเมินผลการเรียนด้วยเกรดเฉลี่ย (GPA) ในทุกวิชาไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ และคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐
Copyright © 2022 -Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. Webmaster: nswww@mahidol.ac.th