ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: | หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง |
ภาษาอังกฤษ: | Program of Nursing Specialty in Oncology Nursing |
ชื่อประกาศนียบัตร
ชื่อเต็ม: | ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง |
Certificate of Nursing Specialty in Oncology Nursing | |
ชื่อย่อ: | ป. การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง |
Cert. in Oncology Nursing |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
หลักการและเหตุผล
โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและของประเทศไทย ที่เป็นสาเหตุของการตายของประชากรในสิบอันดับแรก จากสถิติทั่วโลกพบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งจำนวนสูงถึงเกือบ ๗ ล้านคน และพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า ๑๐ ล้านคน โดยผู้ป่วยเหล่านี้จำนวนมากกว่าครึ่งอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันโรคมะเร็งได้กลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา และในแต่ละปีที่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า ๖๔,๐๐๐ ราย และจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตมากกว่า ๔๐,๐๐๐ ราย สอดคล้องกับสถิติขององค์การอนามัยโลกปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดย International Agency for Research on Cancer: IARC ที่พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ ๑๔.๑ ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ๘.๒ ล้านคน เปรียบเทียบกับในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ ๑๒.๗ ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ๗.๖ ล้านคน ในประเทศไทยพบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา และปัญหานี้ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า มากกว่า ๑ ใน ๓ ของมะเร็งที่พบบ่อยสามารถป้องกันได้โดยการมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่เหมาะสม และอีก ๑ ใน ๓ เป็นมะเร็งที่สามารถรักษาได้ หากมีการตรวจวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม และประมาณ ๒ ใน ๓ ของสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งมีความสัมพันธ์กับบุหรี่ อาหาร โรคอ้วน การขาดการออกกำลังกาย มลพิษจากการประกอบอาชีพและจากสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเป็นโรคที่มีความรุนแรงซับซ้อนและคุกคามต่อชีวิต ส่งผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ด้วยวิธีการรักษาที่มีความซับซ้อน ผู้ป่วยมักต้องเผชิญกับอาการทุกข์ทรมาน ความไม่สุขสบายจากโรคและอาการข้างเคียงจากการรักษา ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและความสูญเสียทั้งต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัว เนื่องจากเป็นโรคที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนาน ผู้ป่วยจำนวนมากต้องสูญเสียศักยภาพของชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตอารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงการต้องสูญเสียชีวิตในที่สุดก่อนถึงเวลาอันควร ผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัวที่ตามมา ทำให้เกิดความต้องการการดูแลต่อเนื่องจากทีมสุขภาพ ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปรับตัวและดูแลตนเองได้ทุกระยะของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ พยาบาลเป็นบุคลากรสำคัญในทีมสุขภาพในการให้การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ดังนั้นเพื่อสามารถให้บริการการพยาบาลที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะและความสามารถของพยาบาลในการป้องกัน การคัดกรอง การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยมะเร็งให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และการพยาบาล ตลอดจนตอบสนองความต้องการของสังคมซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยเน้นแนวคิดในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องครบวงจร ตลอดช่วงเวลาของความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาทางการพยาบาล มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาในหลักสูตรการพยาบาลวิชาชีพระดับต่างๆ รวมถึงการพยาบาลเฉพาะทาง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญและสมรรถนะหลักเฉพาะในการให้การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างมีคุณภาพ จึงจัดการศึกษาอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในระดับประเทศและเป็นการตอบรับนโยบายระดับชาติในการจัดแผนบริการแผนพัฒนาบริการสุขภาพ (Service plan) ในด้านการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจ ในระบบสุขภาพ และนโยบายสุขภาพ ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง สามารถประเมินคัดกรองภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งและการตัดสินทางคลินิกได้ เข้าใจโรคมะเร็งและผลกระทบที่เกิดจากโรค กระบวนการรักษา และให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีบำบัด และผู้ดูแลรวมทั้งการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้อย่างมีคุณภาพ
วัตถุประสงค์เฉพาะ
ภายหลังสำเร็จการศึกษาอบรม ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมสามารถ
๑) วิเคราะห์อุบัติการณ์ สถานการณ์ สาเหตุ ปัจจัยส่งเสริม และกระบวนการของการเกิดโรคของมะเร็งที่พบบ่อยในประชากรไทยได้ รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบของโรคมะเร็งต่อ กาย จิต สังคม เศรษฐกิจของผู้ป่วยและครอบครัวได้ ๒) อธิบายแนวคิดและแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งในประชากรไทยได้ ๓) อธิบายแนวทางการวินิจฉัย วิธีการรักษา และการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยมะเร็งได้ ๔) วิเคราะห์ วินิจฉัยปัญหา วางแผน และปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งได้ ๕) ให้คำปรึกษาผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาโรคมะเร็งได้ ๖) บริหารยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้าและภูมิคุ้มกันบำบัดได้ ๗) จัดการอาการปวดเรื้อรังและอาการอื่นๆ จากโรคมะเร็งได้ ๘) จัดการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับรังสีและรังสีร่วมรักษาและไอโซโทปได้ ๙) ให้การดูแลแบบประคับประคองทั้งในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาทางศัลยกรรม เคมีบำบัด รังสีและรังสีร่วมรักษาได้ ๑๐) ร่วมมือประสานงานกับบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระบบการดูแล เพื่อแก้ปัญหาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๑๑) พัฒนาระบบบันทึกข้อมูลทะเบียนมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ (tumor registry) และสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อการวางแผนด้านกำลังคน และการกำหนดนโยบายได้ ๑๒) พัฒนาระบบประเมินและพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร | ๑๘ | หน่วยกิต |
โครงสร้างหลักสูตรมีดังนี้ | ||
ภาคทฤษฎี | ๑๒ | หน่วยกิต |
(๑ หน่วยกิต = ๑๕ ชั่วโมง) (สอนในชั้นเรียน ๑๐ หน่วยกิต = ๑๕๐ ชั่วโมง และสอนห้องปฏิบัติการ ๒ หน่วยกิต = ๖๐ ชั่วโมง) |
||
ภาคปฏิบัติ | ๖ | หน่วยกิต |
(๑ หน่วยกิต = ๖๐ ชั่วโมง) รวม ๓๖๐ ชั่วโมง |
ภาคทฤษฎี
จำนวน ๑๒ หน่วยกิต ๕ รายวิชา
วิชาแกน | ||
จำนวน ๒ หน่วยกิต (๑ รายวิชา) | ||
พยคร ๖๒๗ | วิชานโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำ | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 627 | Health Policy and Leadership |
วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา | ||
จำนวน ๑๐ หน่วยกิต (๔ รายวิชา) | ||
พยคร ๕๑๒ | การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงและการตัดสินทางคลินิก | ๒ (๑-๒-๓) |
NSID 512 | Advanced Health Assessment and Clinical Judgment | |
พยคร ๕๑๓ | แนวคิดหลักในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง | ๓ (๓-๐-๖) |
NSID 513 | Principles of Care in Patients with Cancer | |
พยคร ๕๑๔ | การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด | ๓ (๒-๒-๕) |
NSID 514 | Nursing for Cancer Patients Receiving Chemotherapy | |
พยคร ๕๑๕ | การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 515 | Nursing for Patients with Advanced Cancer |
ภาคปฏิบัติ
จำนวน ๖ หน่วยกิต ๓ รายวิชา
พยคร ๕๙๕ | ทักษะเฉพาะทางการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง | ๓ (๐-๑๒-๓) |
NSID 595 | Specific Nursing Skills in Oncology Care | |
พยคร ๕๙๖ | ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม | ๒ (๐-๘-๒) |
NSID 596 | Nursing Practicum for Patients with Advanced Cancer | |
พยคร ๕๑๖ | การจัดการข้อมูลและสารสนเทศ | ๑ (๐-๔-๑) |
NSID 516 | Data Management and Informatics |
รายละเอียดรายวิชา
พยคร ๖๒๗ NSID 627 |
นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำ Health Policy and Leadership |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
นโยบายสุขภาพ ปัญหาและแผนพัฒนากำลังคนทางการพยาบาล กฎหมาย ข้อกำหนด และประเด็นจริยธรรมในระบบสุขภาพ เศรษฐศาสตร์สุขภาพและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพในระบบสุขภาพ ทฤษฎีและการพัฒนาสมรรถนะผู้นำ
พยคร ๕๑๒ NSID 512 |
การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงและและการตัดสินทางคลินิก Advanced Health Assessment and Clinical Judgment |
๒ (๑-๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิด หลักการ การประเมินภาวะสุขภาพแบบองค์รวม การสร้างสัมพันธภาพและทักษะการสื่อสารในการประเมินและตัดสินปัญหาสุขภาพ การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง การประเมินอาการและอาการแสดงของโรคมะเร็ง การแปลผลการตรวจเบื้องต้นทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ การประเมินภาวะสุขภาพแบบบูรณาการโรคมะเร็ง การประเมินด้านจิตสังคม สิ่งสนับสนุน และสิ่งแวดล้อมที่บ้านและในชุมชน การประเมินผู้ดูแล การบันทึกข้อมูลทางการพยาบาล
พยคร ๕๑๓ NSID 513 |
แนวคิดหลักในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง Principles of Care in Patients with Cancer |
๓ (๓-๐-๖) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
หลักการและแนวคิดการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและการค้นหามะเร็งระยะเริ่มต้น การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่พบบ่อย การพยาบาลตามมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็ง อาการและการจัดการกับอาการโดยใช้ยาและไม่ใช้ยา การจัดการทางด้านอารมณ์ จิตสังคม คุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งระยะรอดชีวิตและการฟื้นฟูสภาพ ประเด็นผู้ดูแลและครอบครัว
พยคร ๕๑๔ NSID 514 |
การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด Nursing for Cancer Patients Receiving Chemotherapy |
๓ (๒-๒-๕) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิดหลักในการบริหารยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้าและภูมิคุ้มกันบำบัด จลนศาสตร์และพลศาสตร์ของยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้าและภูมิคุ้มกันบำบัด หลักการบริหารยา การประเมินและการจัดการผลที่เกิดจากยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้าและภูมิคุ้มกันบำบัด การให้คำปรึกษา สนับสนุนการจัดการตนเอง ของผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลต่อเนื่อง การจัดการผลลัพธ์ทางการพยาบาล
พยคร ๕๑๕ NSID 515 |
การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม Nursing for Patients with Advanced Cancer |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ลักษณะผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม การประเมินและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามและระยะประคับประคอง การจัดการอาการปวดและปัญหาเฉพาะ ความก้าวหน้าในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง การรักษาพยาบาลภาวะฉุกเฉินด้านโรคมะเร็ง การดูแลแบบประคับประคองและการดูแลระยะท้ายของชีวิต การสื่อสารในผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว การดูแลผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มพิเศษ
พยคร ๕๙๕ NSID 595 |
ทักษะเฉพาะทางการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง Specific Nursing Skills in Oncology Care |
๓ (๐-๑๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ฝึกทักษะเฉพาะการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว จัดการอาการโดยใช้ยาและไม่ใช้ยา ฟื้นฟูสภาพทางร่างกายและจิตสังคมหลังการรักษา และเสริมพลังผู้ป่วย ผู้ดูแลและครอบครัว ให้คำปรึกษา และการรักษาพยาบาล บนพื้นฐานกฎหมายและจริยธรรม
พยคร ๕๑๖ NSID 516 |
ปฏิบัติการจัดการข้อมูลและสารสนเทศ Data Management and Informatics |
๑(๐-๔-๑) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ปฏิบัติการกำหนดชุดข้อมูลที่มีความไวและเฉพาะทางการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง การสร้างพจนานุกรมข้อมูลและแฟ้มข้อมูลขนาดเล็กโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเก็บรวบรวมข้อมูล การบันทึกข้อมูล การใช้สถิติอย่างง่ายในการวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอข้อมูล การวิเคราะห์ความผันแปรเพื่อกำหนดแนวทางการพยาบาลและการพัฒนาคุณภาพ
ระยะเวลาการศึกษาอบรม
จัดการศึกษาอบรมเต็มเวลา ๑๘ สัปดาห์ หรือ ๔ เดือน
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
คุณสมบัติทั่วไป
๑) เป็นผู้มีความประพฤติดี ประวัติการทำงานดี มีความรับผิดชอบ
๒) ไม่เป็นโรคหรือมีสภาพร่างกายที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาอบรม
๓) มีใบรับรองจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้นและได้รับการอนุมัติให้ลาศึกษาต่อจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานเต็มเวลา
คุณสมบัติเฉพาะ
๑) เป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรในวิชาชีพการพยาบาล และได้รับใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้น ๑ จากสภาการพยาบาล
๒) เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี
๓) ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก
การสำเร็จการศึกษา
ในการสำเร็จการศึกษาอบรม ผู้เข้าอบรมจะต้องมีระยะเวลาในการศึกษาอบรมไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๙๐ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีระยะเวลาของการฝึกปฏิบัติไม่ต่ำกว่า ๓๖๐ ชั่วโมง และต้องผ่านการประเมินผลการเรียนด้วยคะแนนเฉลี่ย (GPA) ในทุกวิชาไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ และคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐ นอกเหนือจากนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการศึกษาระดับอนุปริญญา และปริญญาตรี พ.ศ. ๒๕๕๒
Copyright © 2022 -Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. Webmaster: nswww@mahidol.ac.th