ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: | หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ |
ภาษาอังกฤษ: | Program of Nursing Specialty in Geriatric Nurse Practitioner |
ชื่อประกาศนียบัตร
ชื่อเต็ม: | ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ |
Certificate of Nursing Specialty in Geriatric Nurse Practitioner | |
ชื่อย่อ: | ป.การพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ |
Cert. in Geriatric Nurse Practitioner |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หลักการและเหตุผล
อัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงร่วมกับอายุที่ยืนขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๘ คือมีประชากรที่อายุมากกว่า ๖๐ ปี คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๔ ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีประชากรสูงอายุ ร้อยละ ๒๐ และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Supper Aged Society) ในปี พ.ศ. ๒๕๗๔ เนื่องจากประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุถึงร้อยละ ๓๐ (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ ไทย, ๒๕๖๑; สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๖๓) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย เนื่องจากประชากรสูงอายุ มีความเปราะบาง และสมรรถภาพทางกายลดลงตามวัย
ปัญหาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง โรคข้อและกระดูก โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองชนิดต่าง ๆ โรคสมองเสื่อมและโรคซึมเศร้า เป็นต้น (รายงานสุขภาพคนไทย, ๒๕๖๒) ผู้สูงอายุโรคไม่ติดต่อเรื้อรังส่วนใหญ่มีการเจ็บป่วยหลายโรครวมกันและอาจมีความคาบเกี่ยวกันด้านพยาธิสภาพของโรค อาการ แผนการรักษาและการใช้ยา ทำให้เกิดความซับซ้อนสำหรับการให้การดูแล (Sambamoorthi, Tan, & Deb, 2015) ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น (ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร, อลงกรณ์ ฉลาดสุข, พิมพ์ชนก เกื้อรอด, ภัทร อภิวัฒนกุล, ขวัญกมล ถนัดค้า, ๒๕๖๑) นอกจากนี้ ผู้สูงอายุโรคไม่ติดต่อเรื้อรังส่วนหนึ่งที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เจ็บป่วย มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) โดยมีนโยบายให้ปฏิรูปกระบวนการจัดบริการสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยไม่ติดต่อเรื้อรังให้มีประสิทธิภาพ เน้นการดูแลในระดับปฐมภูมิเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในมิติทางด้านสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นประเด็นที่ท้าทาย สำหรับการจัดระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย
การจัดระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับการดูแลผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีกำลังคนด้านสุขภาพที่มีสมรรถนะเฉพาะด้านและเพียงพอสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปีด้านสาธารณสุข (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) ที่สนับสนุนให้มีการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพให้เพียงพอและมีความเป็นมืออาชีพ เช่นเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๖๔) ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิตบุคลากรด้านผู้สูงอายุในระดับวิชาชีพอย่างเพียงพอและมีมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ พบว่าการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวต้องการกำลังคนสาขาพยาบาลเพิ่มอีก ๕๘,๘๔๑ คน (ศิริพันธุ์ สาสัตย์, นงลักษณ์ พะไกยะ, วาสินี วิเศษฤทธิ์, ๒๕๖๒) ดังนั้นการผลิตพยาบาลที่มีคุณภาพสำหรับการดูแลผู้สูงอายุเพื่อตอบสนองนโยบายสุขภาพตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปีด้านสาธารณสุขและแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ส่งผลให้หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุเป็นหลักสูตรที่สอดรับกับปัญหาในสังคมสูงอายุ และความต้องการด้านสุขภาพของผู้สูงอายุของประเทศไทย ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลที่ผลิตบุคลากรทางการพยาบาล รวมทั้งการผลิตพยาบาลที่มีความชำนาญเฉพาะทาง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ และได้เล็งเห็นปัญหาและความสำคัญของผู้สูงอายุและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงดำเนินการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ เพื่อจัดการศึกษาอบรมแก่พยาบาลจากหน่วยงานที่มีความต้องการพยาบาลที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะ สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลในการให้บริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุทั้งในกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่เจ็บป่วย ทั้งในด้านการดูแลผู้สูงอายุและการรักษาโรคเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการตอบสนองนโยบายของยุทธศาสตร์ตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ตลอดจนความต้องการของสังคมและประเทศชาติ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ นโยบาย ระบบบริการสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ มีทักษะในการประเมินภาวะสุขภาพอย่างครอบคลุมเพื่อการตัดสินใจทางคลินิก การตรวจวินิจฉัยโรค ให้การรักษาโรคเบื้องต้นและใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรคที่พบบ่อยและกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน ให้บริการหัตถการตามปัญหาของผู้สูงอายุ จัดการภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ สามารถวางแผนบูรณาการการดูแล สร้างเสริม ป้องกันและฟื้นฟูเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ และการตัดสินใจทางคลินิกอย่างมีวิจารณาณ สามารถบูรณาการเทคโนโลยีและสารสนเทศในการวิเคราะห์ และจัดการข้อมูล สามารถออกแบบนวัตกรรมสุขภาพ บริการสุขภาพทางไกล หรือสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ ปฏิบัติงานเป็นทีมกับสหวิชาชีพในบทบาทของผู้นำ และสมาชิกในทีม แสดงทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาลและการส่งต่อได้อย่างเหมาะสม ภายใต้กฎหมาย จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
วัตถุประสงค์เฉพาะ
๑) มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎี นโยบายและระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการ พยาบาลเวชปฎิบัติผู้สูงอายุ ๒) ประเมิน คัดกรอง วินิจฉัยโรค ให้การรักษาโรคเบื้องต้น และใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรคที่พบบ่อย และกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีปัญหาสุขภาพซับซ้อน ๓) บูรณาการการดูแล สร้างเสริม ป้องกันและฟื้นฟูในการแก้ไขโรค/ปัญหาสุขภาพโดยใช้ หลักฐานเชิงประจักษ์และการตัดสินใจทางคลินิกอย่างมีวิจารณาณ ๔) บูรณาการเทคโนโลยีและสารสนเทศ ในการวิเคราะห์ และจัดการข้อมูลเหมาะสมกับบริบทของ ผู้สูงอายุ สถานการณ์ของโรค และหน่วยบริการสุขภาพ ๕) ออกแบบนวัตกรรมสุขภาพ บริการสุขภาพทางไกล หรือสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุได้ ๖) ปฏิบัติงานเป็นทีมกับสหวิชาชีพในบทบาทของผู้นำ และสมาชิกในทีมการดูแลผู้สูงอายุได้ ๗) แสดงทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ๘) ประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาลและการส่งต่อได้อย่างเหมาะสม ๙) ปฏิบัติการพยาบาลภายใต้กฎหมาย จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร | ๒๒ | หน่วยกิต |
โครงสร้างหลักสูตรมีดังนี้ | ||
ภาคทฤษฎี | ๑๔ | หน่วยกิต (๒๔๐ ชั่วโมง) |
ภาคปฏิบัติ | ๘ | หน่วยกิต (๔๘๐ ชั่วโมง) |
ภาคทฤษฎี
จำนวน ๑๔ หน่วยกิต ๖ รายวิชา
วิชาแกน | ||
จำนวน ๒ หน่วยกิต (๑ รายวิชา) | ||
พยคร ๖๒๗ | วิชานโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำ | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 627 | Health Policy and Leadership |
วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา | ||
จำนวน ๑๒ หน่วยกิต (๕ รายวิชา) | ||
พยคร ๕๑๙ | การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงในผู้สูงอายุ | ๓ (๒-๒-๕) |
NSID 519 | Advanced Health Assessment in Older Persons | |
พยคร ๕๒๐ | นวัตกรรมสุขภาพสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ | ๑ (๐-๒-๑) |
NSID 520 | Health Innovation for Geriatric Nurse Practitioners | |
พยคร ๕๒๑ | การรักษาโรคเบื้องต้นที่พบบ่อย | ๓ (๓-๐-๖) |
NSID 521 | Primary Medical Care in Common Diseases | |
พยคร ๕๒๒ | การจัดการโรคเรื้อรัง/ปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนของผู้สูงอายุ | ๓ (๓-๐-๖) |
NSID 522 | Management of Chronic Diseases/Complex Health Problems of Older Persons | |
พยคร ๕๒๓ | การพยาบาลผู้สูงอายุในชุมชน | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 523 | Gerontological Nursing in Community |
ภาคปฏิบัติ
จำนวน ๘ หน่วยกิต ๓ รายวิชา
พยคร ๕๘๓ | ปฏิบัติการรักษาโรคเบื้องต้นที่พบบ่อย | ๓ (๐-๑๒-๓) |
NSID 583 | Primary Medical Care in Common Diseases Practicum | |
พยคร ๕๘๔ | ปฏิบัติการจัดการโรคเรื้อรัง/ปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนของผู้สูงอายุ | ๓ (๐-๑๒-๓) |
NSID 584 | Management of Chronic Diseases/Complex Health Problems of Older Persons Practicum | |
พยคร ๕๙๐ | ปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุในชุมชน | ๒ (๐-๘-๒) |
NSID 590 | Practicum in Gerontological Nursing of Older Persons in Community |
รายละเอียดรายวิชา
พยคร ๖๒๗ NSID 627 |
นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำ Health Policy and Leadership |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
นโยบายสุขภาพ ปัญหาและแผนพัฒนากำลังคนทางการพยาบาล กฎหมาย ข้อกำหนด และประเด็นจริยธรรมในระบบสุขภาพ เศรษฐศาสตร์สุขภาพและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพในระบบสุขภาพ ทฤษฎีและการพัฒนาสมรรถนะผู้นำ
จำนวนชั่วโมงอบรม
ทฤษฎี ๓๐ ชั่วโมง
พยคร ๕๑๙ NSID 519 |
การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงในผู้สูงอายุ Advanced Health Assessment in Older Persons |
๓ (๒-๒-๕) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
การประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การประเมินภาวะจิตสังคม ภาวะโภชนาการ และภาวะพึ่งพา การคัดกรองผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่เจ็บป่วย การใช้เครื่องมือพิเศษ การแปลผลทางห้องปฏิบัติการ การตัดสินทางคลินิก และการเขียนรายงานประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ
พยคร ๕๒๐ NSID 520 |
นวัตกรรมสุขภาพสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ Health Innovation for Geriatric Nurse Practitioners |
๑ (๐-๒-๑) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
การออกแบบนวัตกรรมสุขภาพ การบริการสุขภาพทางไกล สถานประกอบการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุสำหรับพยาบาลเวชปฏิบัติผู้สูงอายุ เทคโนโลยีและสารสนเทศในการวิเคราะห์ การจัดการข้อมูล การประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาล ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
พยคร ๕๒๑ NSID 521 |
การรักษาโรคเบื้องต้นที่พบบ่อย Primary Medical Care in Common Diseases |
๓ (๓-๐-๖) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
กลุ่มโรคและอาการที่พบบ่อยทุกกลุ่มวัยและผู้สูงอายุ พยาธิสรีรวิทยาของกลุ่มโรค สาเหตุและวิทยาการระบาดของการเกิดโรค อาการและอาการแสดง ภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อยและเฉียบพลันในระบบต่าง ๆ ที่พบบ่อย ทุกกลุ่มวัยและผู้สูงอายุ การวินิจฉัยแยกโรคและอาการ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ การวางแผนการรักษาเบื้องต้น การให้ภูมิคุ้มกัน ขอบเขตการใช้ยาและการบริหารยาของพยาบาล หลักการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การบริหารจัดการยาในระบบปฐมภูมิ นวัตกรรมเพื่อการดูแลรักษาโรคเบื้องต้น การให้คำปรึกษาและการส่งต่อโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยและจริยธรรมวิชาชีพ
พยคร ๕๒๒ NSID 522 |
การจัดการโรคเรื้อรัง/ปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนของผู้สูงอายุ Management of Chronic Diseases/Complex Health Problems of Older Persons |
๓ (๓-๐-๖) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับโรคเรื้อรังของผู้สูงอายุ การประเมิน การคัดกรอง การรักษา และการฟื้นฟูโรค/ปัญหาสุขภาพที่มีความซับซ้อนอย่างเป็นองค์รวม การตัดสินใจทางคลินิก การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการจัดการโรค การออกแบบการดูแลระยะกลาง การดูแลต่อเนื่อง การดูแลระยะยาว การดูแลประคับประคองและระยะท้าย การประเมินผลลัพธ์การจัดการโรค/ปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน การวิเคราะห์และจัดการข้อมูล การประสานความร่วมมือกับทีมงาน นวัตกรรม/โครงการและการประกอบการเพื่อการจัดการโรคเรื้อรัง/ปัญหาสุขภาพที่มีความซับซ้อนของผู้สูงอายุ
พยคร ๕๒๓ NSID 523 |
การพยาบาลผู้สูงอายุในชุมชน Gerontological Nursing in Community |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิดและทฤษฎีความสูงอายุ เจตคติและจริยธรรมในการดูแลผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ และจิตวิญญาณ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ การจัดการกับกลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ การบริการชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ และการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
พยคร ๕๘๓ NSID 583 |
ปฏิบัติการรักษาโรคเบื้องต้นที่พบบ่อย Primary Medical Care in Common Diseases Practicum |
๓ (๐-๑๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ปฏิบัติการประเมินภาวะสุขภาพ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย อาการและอาการแสดงกลุ่มโรคตามระบบ หรือตามกลุ่มอาการที่พบบ่อยในทุกกลุ่มวัยและผู้สูงอายุ การคิดอย่างมีเหตุผลและการตัดสินใจทางคลินิกในการวินิจฉัยแยกโรค การรักษาโรคเบื้องต้น การใช้ยาอย่างสมเหตุผล การคัดแยกและจัดลำดับความต้องการการดูแล ตามปัญหาสุขภาพ การปฐมพยาบาลและช่วยเหลือเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉิน รับและส่งต่อผู้ป่วย ให้ความรู้ และคำปรึกษา บันทึกติดตามการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุได้รับการดูแลเนื่องอย่างปลอดภัยตามขอบเขต การปฏิบัติและจริยธรรมวิชาชีพ
วัตถุประสงค์ทั่วไป
ผู้เข้ารับการอบรมมีทักษะการประเมินภาวะสุขภาพ การซักประวัติ ตรวจร่างกายในอาการและอาการแสดงกลุ่มโรคตามระบบหรือตามกลุ่มอาการที่พบบ่อยในทุกกลุ่มวัยและในผู้สูงอายุ ภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อยและเฉียบพลัน ในระบบต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ การคิดอย่างมีเหตุผลและการตัดสินใจทางคลินิกในการการวินิจฉัยแยกโรค การรักษาโรคเบื้องต้นโดยการเลือกใช้ยาและสมุนไพร การใช้ยาอย่างสมเหตุผล การบริหารจัดการยาในระบบปฐมภูมิ การคัดแยกและจัดลำดับความต้องการการดูแลตามปัญหาสุขภาพ การปฐมพยาบาลและช่วยเหลือเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉิน รับและส่งต่อผู้ป่วย ให้ความรู้และคำปรึกษา บันทึกติดตามการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องอย่างปลอดภัยตามขอบเขตการปฏิบัติและจริยธรรมวิชาชีพ
พยคร ๕๘๔ NSID 584 |
ปฏิบัติการจัดการโรคเรื้อรัง/ปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อนของผู้สูงอายุ Management of Chronic Diseases/Complex Health Problems of Older Persons Practicum |
๓ (๐-๑๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ปฏิบัติการ การประเมิน คัดกรอง รักษา และฟื้นฟูโรคในผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพที่มีความซับซ้อนอย่างเป็นองค์รวม การตัดสินใจทางคลินิกอย่างมีวิจารณาณ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ การพัฒนาศักยภาพผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเองและดูแลผู้ที่ต้องพึ่งพิง การดูแลต่อเนื่อง การดูแลระยะกลาง การดูแลระยะยาว การดูแลประคับประคองและระยะท้าย การประเมินผลลัพธ์การจัดการดูแลและความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะการเจ็บป่วยซับซ้อน การประสานงานกับทีมสุขภาพและความร่วมมือกับชุมชน การพัฒนานวัตกรรมสุขภาพและสถานประกอบการ
พยคร ๕๙๐ NSID 590 |
ปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุในชุมชน Practicum in Gerontological Nursing of Older Persons in Community |
๒ (๐-๘-๒) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ฝึกปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงตามวัย การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ การคัดกรองปัญหาสุขภาพ หลักฐานเชิงประจักษ์ การบริการชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ การจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และการประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาล
วัตถุประสงค์ทั่วไป
ผู้เข้ารับการอบรมสามารถให้การพยาบาลผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงจาก การเปลี่ยนแปลงตามวัย โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่เหมาะสมในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพ การคัดกรองปัญหาสุขภาพ การให้คำปรึกษาในการดูแลสุขภาพ การบริการชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ การจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและการประเมินผล
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
คุณสมบัติทั่วไป
๑) เป็นผู้มีความประพฤติดี ประวัติการทำงานดี มีความรับผิดชอบ
๒) ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
๓) มีใบรับรองจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้น และได้รับการอนุมัติให้ลาศึกษาต่อจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นๆ เต็มเวลา
คุณสมบัติเฉพาะ
๑) เป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตรในวิชาชีพการพยาบาล และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จากสภาการพยาบาล
๒) เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี
๓) ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก
การสำเร็จการศึกษา
ผู้เข้ารับการศึกษาจะสำเร็จการศึกษาต้องมีระยะเวลาการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติรวมกันไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๙๐ โดยมีระยะเวลาการเรียนภาคทฤษฎีไม่น้อยกว่า ๒๑๖ ชั่วโมง มีระยะเวลาการฝึกภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า ๔๔๐ ชั่วโมง ได้เกรดเฉลี่ยทุกรายวิชาไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ และเกรดเฉลี่ยตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐
Copyright © 2022 -Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. Webmaster: nswww@mahidol.ac.th