ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: การพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
ภาษาอังกฤษ: Nursing Specialty in Cardiovascular Disease Nursing
ชื่อประกาศนียบัตร
ภาษาไทย: ประกาศนียบัตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
ภาษาอังกฤษ: Certificate of Nursing Specialty in Cardiovascular Disease Nursing
ชื่อย่อ: ป.การพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
หลักการและเหตุผล
สถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดของประเทศไทย กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในปี ๒๕๕๗ คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจเป็นอันดับ ๕ ของประชากรไทย เฉลี่ยชั่วโมงละ ๗ คน และคนไทย ๓ ใน ๕ คน มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อย ๑ ปัจจัยขึ้นไป ทำให้โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคเรื้อรังอันดับที่ ๑ ของคนไทยและมีความซับซ้อนในการเกิดร่วมกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ทำให้ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึงปีละประมาณ ๓ แสนล้านบาทและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐ ต่อปี ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับค่ารักษาพยาบาลด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ ประเทศไทยต้องพัฒนาภูมิคุ้มกันให้แก่ คน สังคมและระบบเศรษฐกิจให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงโครงสร้างสังคมที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น เผชิญกับสังคมระบบทุนนิยมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงวัตถุ เกิดภาวะเร่งรีบเป็นเหตุให้วิถีการดำเนินชีวิตขาดสมดุล สิ่งแวดล้อมที่มีภัยคุกคามต่อสุขภาพ และเกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น เป้าหมายของแผนพัฒนาสุขภาพฉบับปัจจุบันจึงมุ่งเน้น การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในการดูแลสุขภาพ การมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพรวมทั้งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เข้าถึงอย่างเป็นระบบอย่างเท่าเทียม พัฒนาเครือข่ายการบริการและช่องทางด่วนพิเศษ โดยให้การบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดอัตราป่วย อัตราตาย ความพิการทุพพลภาพ และต้นทุนด้านเศรษศาสตร์ของประเทศ
การให้บริการพยาบาลโรคหัวใจและหลอดเลือดมีความซับซ้อนเชิงการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพร่วมกับการใช้เทคโนโลยีในการรักษา ทั้งในระยะฉุกเฉิน วิกฤต เฉียบพลัน ฟื้นตัวและเรื้อรัง พยาบาลจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สามารถวิเคราะห์ความซับซ้อนของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในทุกระยะการเจ็บป่วย พัฒนาการดูแลสุขภาพแบบการผสานระบบการดูแล (Integrated care systems) และมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยและครอบครัวให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ บนพื้นฐานการวิเคราะห์ระบบข้อมูลทางคลินิกและหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำงานแบบสหสาขาวิทยาการที่มีมาตรฐานสากลและเชื่อมโยงเครือข่ายในการดูแลให้มีประสิทธภาพ เพื่อลดอัตราตาย ภาวะแทรกซ้อน ดังนั้นคณะพยาบาลศาสตร์จึงดำเนินการจัดการศึกษาอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด แก่พยาบาลจากหน่วยงานที่มีความต้องการพยาบาลที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา อันเป็นการตอบสนองนโยบาย และความต้องการของสังคมและประเทศชาติ
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายระบบสุขภาพ สถานการณ์ปัญหาและระบบการพยาบาลผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือด จริยธรรม สิทธิการเข้าถึงการรักษา ระบบสารสนเทศ ระบบการจัดการความเสี่ยง การบริหารทรัพยากรการรักษาพยาบาลและเทคโนโลยี การประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง เข้าใจความซับซ้อนทางพยาธิสรีระวิทยาของโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคร่วม วิเคราะห์ความซับซ้อนของปัญหาและใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการจัดการพยาบาล ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการดูแลผู้ป่วยในระยะฉุกเฉินและวิกฤต หัตถการต่าง ๆ ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด บริหารการใช้ยาในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด การจัดการทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจในระยะฉุกเฉิน เฉียบพลัน วิกฤต ฟื้นตัวและเรื้อรัง การจำแนกความเร่งด่วนตามอาการ การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว การปรับวิถีการดำเนินชีวิตกับโรค การฟื้นฟูสุขภาพ การป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคหัวใจหลอดเลือด การพัฒนาเครือข่ายการดูแลต่อเนื่อง ประสานความร่วมมือในทีมการดูแลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงออกแบบแฟ้มข้อมูลดิจิตัลในการจัดบริการสุขภาพ และกระบวนการจัดการสารสนเทศทางการรักษาพยาบาล
วัตถุประสงค์เฉพาะ
เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และทักษะเฉพาะดังนี้
ด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ และกฎหมาย
๑) มีส่วนร่วมจัดระบบบริการ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ๒) ปกป้องสิทธิผู้ป่วยและครอบครัว ในการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการรักษา ความเสี่ยงและการรักษาความลับของผู้ป่วยตามภาวะการเจ็บป่วย ๓) ใช้ศาสตร์และศิลป์ทางการพยาบาล ภายใต้กฏหมายวิชาชีพเพื่อปกป้องผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง และปลอดภัยตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน ด้านการปฏิบัติการพยาบาล
๑) วิเคราะห์ความซับซ้อนของปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคศาสตร์ และพยาธิสรีรวิทยาของหัวใจและหลอดเลือดในการเกิดโรคและการเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง ๒) ประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง ในผู้ป่วยโรคหัวใจหลอดเลือด จากการซักประวัติ ความเจ็บป่วยและภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ตรวจจับความผิดปกติจากอาการอาการแสดง การตรวจร่างกายและการตรวจวินิจฉัย แปลผลเบื้องต้นการตรวจในระบบหัวใจ หลอดเลือดและระบบที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ๓) ประเมินความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมทั้งวิเคราะห์และตัดสินให้การพยาบาลได้ ๔) วางแผนการป้องกันการเกิดโรคระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ และการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ในระยะฉุกเฉิน วิกฤต เฉียบพลัน เรื้อรัง รวมถึงระยะท้ายของชีวิต ทั้งในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยา หัตถการและการผ่าตัด การวางแผนการจำหน่าย การฟื้นตัว การฟื้นฟูสุขภาพ และการดูแลต่อเนื่อง ๕) ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการทำหัตถการและการผ่าตัด ในระยะก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัด ในระยะฉุกเฉิน เฉียบพลัน วิกฤต และฟื้นตัวได้อย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๖) ประเมิน อาการเตือนภัยอันตรายล่วงหน้า และตัดสินปัญหาทางคลินิก ของโรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยยา หัตถการ และการผ่าตัด ในภาวะฉุกเฉิน เฉียบพลัน วิกฤต ฟื้นตัว เรื้อรังและระยะท้ายของชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ๗) วางแผนการจัดการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในภาวะฉุกเฉิน เฉียบพลัน วิกฤต ฟื้นตัวและเรื้อรัง บนพื้นฐานระบบข้อมูลทางคลินิก และหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที ปลอดภัยและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ๘) บริหารกลุ่มยาที่สำคัญที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ยากลุ่มเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ (Inotropic drugs) ยากลุ่มปิดกั้นเบต้า (Beta blockers) ยากลุ่มขยายหลอดเลือด (Vasodilator drugs) ยากลุ่มต้านภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Anti-arrhythmic drugs) ยากลุ่มขับปัสสาวะ (Diuretic drugs) ยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulation) และยากลุ่มละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drugs) อย่างถูกต้องปลอดภัย ๙) สามารถวางแผนการจำหน่าย การฟื้นตัว การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและหลอดเลือด และเชื่อมโยงการดูแลต่อเนื่องที่บ้านได้ถูกต้องเหมาะสม
ด้านภาวะผู้นำ การจัดการ และการพัฒนาคุณภาพ
๑) อธิบายนโยบายระบบสุขภาพ ทิศทางการพัฒนาระบบบริการ ความเชื่อมโยง ในทุกระดับตั้งแต่ระบบการดูแลปฐมภูมิ และกลุ่มโรงพยาบาลรับส่งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ๒) วิเคราะห์สถานการณ์ทางระบาดวิทยาและแนวโน้มปัญหาการเจ็บป่วยซับซ้อน ปัจจัยพื้นฐานเชิงประชากร ระบบบริการสาธารณสุข และบริบทพื้นฐานของพื้นที่ ในการเกิดโรคและความซับซ้อนในการเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง ๓) วางแผนการพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมกับทีม สหวิชาชีพ ครอบครัวและชุมชน บนการประมวลข้อมูลอย่างเป็นระบบและหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อและส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ทั้งในระดับสถานพยาบาลและชุมชนได้อย่างเหมาะสม ๔) มีส่วนร่วมในการออกแบบคุณภาพการพยาบาลและสนับสนุนการทำงานของทีมการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ๕) พัฒนาต้นแบบในการพัฒนางานคุณภาพ ในระบบการดูแลปฐมภูมิ และกลุ่มโรงพยาบาลรับส่งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ๖) แสดงความเป็นผู้นำในการสื่อสารเชิงวิชาการ การนำเสนอความคิด ถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจ สนับสนุนการทำงานเป็นทีม การรับฟังและตอบสนองความคิดเห็นที่แตกต่างได้เหมาะสม
ด้านวิชาการและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก
๑) ประมวลผลระบบข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ๒) ประมวลหลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก เพื่อใช้วางแผนและ/หรือปรับแผนการรักษาการพยาบาลอย่างต่อเนื่องที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดแต่ละราย ๓) ประมวลและนำเสนอผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เหมาะสม
ด้านเทคโนโลยี และสารสนเทศ
๑) ออกแบบแฟ้มข้อมูลดิจิตัลเพื่อใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ในระยะต่างๆของความเจ็บป่วยได้เหมาะสม ๒) ออกแบบแฟ้มข้อมูลดิจิตัล ในการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัว บนพื้นฐานความรู้ ทางทฤษฎี หลักฐานเชิงประจักษ์ และความสอดคล้องกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่และทรัพยากรในชุมชน ในภาวะฉุกเฉิน เฉียบพลัน วิกฤต ฟื้นตัว และเรื้อรังของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างเหมาะสม ๓) ออกแบบแฟ้มข้อมูลดิจิตัลในการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และประเมินความสูญเปล่าในระบบบริการ การบริหารจัดการเชิงผลลัพธ์ ประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ทางการพยาบาลระยะต่างๆ และดัชนีชี้วัดที่สำคัญบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
โครงสร้างหลักสูตร
จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร | ๑๗ | หน่วยกิต |
โครงสร้างหลักสูตรมีดังนี้ | ||
ภาคทฤษฎี | ๑๑ | หน่วยกิต |
ภาคปฏิบัติ | ๖ | หน่วยกิต |
ภาคทฤษฎี
จำนวน ๑๑ หน่วยกิต ๕ รายวิชา
วิชาแกน | ||
จำนวน ๒ หน่วยกิต (๑ รายวิชา) | ||
พยคร ๖๒๗ | วิชานโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำ | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 627 | Health Policy and Leadership |
วิชาบังคับของสาขาทางคลินิก | ||
จำนวน ๒ หน่วยกิต (๑ รายวิชา) | ||
พยคร ๕๓๙ | วิชาประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงและการตัดสินทางคลินิก | ๒ (๑-๒-๓) |
NSID 539 | Advanced Health Assessment and Clinical Judgment |
วิชาความรู้ความชำนาญเฉพาะสาขา | ||
จำนวน ๗ หน่วยกิต (๓ รายวิชา) | ||
พยคร ๕๑๘ | วิชาหลักการและแนวคิดการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 518 | Nursing Principle and Concepts of Cardiovascular Nursing | |
พยคร ๕๓๗ | วิชาการพยาบาลหัวใจและหลอดเลือดระยะฉุกเฉินและระยะวิกฤต | ๒ (๒-๐-๔) |
NSID 537 | Emergency and Critical Cardiovascular Nursing | |
พยคร ๕๓๘ | วิชาการพยาบาลหัวใจและหลอดเลือดระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง | ๓ (๓-๐-๖) |
NSID 538 | Acute and Chronic Cardiovascular Nursing |
ภาคปฏิบัติ
จำนวน ๖ หน่วยกิต ๓ รายวิชา
พยคร ๕๙๕ | วิชาปฏิบัติการพยาบาลหัวใจและหลอดเลือดในระยะฉุกเฉินและวิกฤต (๑๒๐ ชั่วโมง) |
๒ (๐-๘-๒) |
NSID 595 | Nursing Practicum for Patients with Emergency and Critical Cardiovascular Diseases | |
พยคร ๕๙๖ | วิชาปฏิบัติการพยาบาลโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง (๑๘๐ ชั่วโมง) |
๓ (๐-๑๒-๓) |
NSID 596 | Nursing Practicum for Patients with Acute and Chronic Cardiovascular Diseases | |
พยคร ๕๘๐ | วิชาปฏิบัติการจัดการระบบข้อมูลทางสุขภาพและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (๖๐ ชั่วโมง) |
๑ (๐-๔-๑) |
NSID 580 | Practicum of Health Information System Management and Evidence Based Application |
รายละเอียดรายวิชา
พยคร ๖๒๗ NSID 627 |
นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำ Health Policy and Leadership |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
นโยบายสุขภาพ ปัญหาและแผนพัฒนากำลังคนทางการพยาบาล กฎหมาย ข้อกำหนด และประเด็นจริยธรรมในระบบสุขภาพ เศรษฐศาสตร์สุขภาพและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพในระบบสุขภาพ ทฤษฎีและการพัฒนาสมรรถนะผู้นำ
พยคร ๕๓๙ NSID 539 |
วิชาประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูงและการตัดสินทางคลินิก Advanced Health Assessment and Clinical Judgment |
๒ (๑-๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิดและความสำคัญของการประเมินภาวะสุขภาพขั้นสูง การซักประวัติ การประเมินอาการ การตรวจร่างกายระบบหัวใจ หลอดเลือด และระบบที่เกี่ยวข้อง การตรวจพิเศษ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตัดสินทางคลินิก การประมวลผลการประเมินภาวะสุขภาพและบันทึกข้อมูลทางการพยาบาลของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
พยคร ๕๑๘ NSID 518 |
วิชาหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด Nursing Principle and Concepts of Cardiovascular Nursing |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิดและหลักการความซับซ้อนทางพยาธิสรีระวิทยาของโรคหัวใจ หลอดเลือดและโรคร่วม สาเหตุ กลไกการเกิดโรค การคัดกรอง การป้องกันความเสี่ยง การจัดการอาการที่พบบ่อย รูปแบบการจัดการทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ของศาสตร์ทางการพยาบาล และศาสตร์สาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารเพื่อส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ในการป้องกันและการจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือด
พยคร ๕๓๗ NSID 537 | วิชาการพยาบาลหัวใจและหลอดเลือดระยะฉุกเฉินและระยะวิกฤต Emergency and Critical Cardiovascular Nursing |
๒ (๒-๐-๔) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนทางพยาธิสรีระวิทยาของโรคหัวใจ หลอดเลือด ระบบไหลเวียน และโรคร่วมสำคัญในระยะฉุกเฉินและวิกฤต การวินิจฉัย การรักษา บทบาทพยาบาลในการจัดการดูแลผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในระยะฉุกเฉินและวิกฤตทางอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์
พยคร ๕๓๘ NSID 538 |
วิชาการพยาบาลหัวใจและหลอดเลือดระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง Acute and Chronic Cardiovascular Nursing |
๓ (๓-๐-๖) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
แนวคิดและความสำคัญของวิถีของของโรคหัวใจและหลอดเลือด พยาธิสรีรวิทยา บูรณาการความซับซ้อนทางพยาธิสรีรวิทยาในกลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดและโรคร่วมที่สำคัญ อาการ อาการแสดง อาการเตือน (Early warning signs) การรักษาและการจัดการทางการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด การปรับวิถีการดำเนินชีวิต (Life style modification) กับโรคหัวใจ บทบาทพยาบาลในการติดตามอาการผู้ป่วย และแนวทางการดูแลต่อเนื่อง
พยคร ๕๙๕ NSID 595 |
วิชาการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะฉุกเฉินและ วิกฤต Nursing Practicum for Patients with Emergency and Critical Cardiovascular Diseas |
๒ (๐-๘-๒) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ฝึกปฏิบัติการพยาบาลแบบบุคคลเป็นศูนย์กลาง แก่ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะฉุกเฉินและวิกฤต โดยนำความรู้ทางทฤษฎีมาประยุกต์ ในการประเมิน วิเคราะห์ วินิจฉัยปัญหา การตัดสินใจทางคลินิก การปฏิบัติการเพื่อการกู้ชีพขั้นสูง การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง วางแผนและให้การพยาบาล รวมทั้งการนำข้อมูลเชิงประจักษ์มาใช้ในการพยาบาลให้เกิดความชำนาญเฉพาะทาง
พยคร ๕๙๖ NSID 596 |
วิชาปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง Nursing care for adult patients with acute and chronic cardiovascular diseases |
๓ (๐-๑๒-๓) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ฝึกปฏิบัติการพยาบาลแบบบุคคลเป็นศูนย์กลางแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง โดยบูรณาการพยาธิสรีรวิทยาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด อาการ อาการแสดง อาการเตือน (Early warning sign) การตรวจวินิจฉัยและหัตถการเบื้องต้นในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด การบริหารการใช้ยาในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด การจัดการทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด การปรับวิถีการดำเนินชีวิตกับโรคหัวใจ บทบาทพยาบาลในการติดตามอาการผู้ป่วย สนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด และแนวทางการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง
พยคร ๕๘๐ NSID 580 |
วิชาปฏิบัติการจัดการระบบข้อมูลทางสุขภาพและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ Practicum of Health Information Management System and Evidence Based Application |
๑ (๐-๔-๑) หน่วยกิต |
คำอธิบายรายวิชา
ฝึกปฏิบัติการจัดการข้อมูลทางคลินิก วิเคราะห์ปัจจัยด้านผู้รับบริการ และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ทางการพยาบาล กำหนดชุดข้อมูลดิจิทัลมาตรฐานในการจัดบริการโรคหัวใจและหลอดเลือด การพัฒนาการบันทึกข้อมูลดิจิทัลทางคลินิก กระบวนการจัดการสารสนเทศทางการรักษาพยาบาล การประมวลผลระบบข้อมูล นำเสนอผลลัพธ์ทางการพยาบาลและตัวชี้วัดทางสุขภาพ
ระยะเวลาการศึกษาอบรม
จัดการฝึกอบรมเต็มเวลา ๑๘ สัปดาห์
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม
คุณสมบัติทั่วไป
๑) เป็นผู้มีความประพฤติดี ประวัติการทำงานดี มีความรับผิดชอบ
๒) ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
๓) มีใบรับรองจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้นและได้รับการอนุมัติให้ลาศึกษาต่อจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานเต็มเวลา
คุณสมบัติเฉพาะ
๑) เป็นผู้ได้รับประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตรในวิชาชีพการพยาบาล และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากสภาการพยาบาล
๒) เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี
๓) ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก
การสำเร็จการศึกษา
ในการสำเร็จการศึกษาอบรม ผู้เข้ารับการอบรมจะต้อง
๑) มีเวลาการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐ ของระยะเวลาการศึกษาอบรมทั้งหมด
๒) มีสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
๓) ต้องผ่านการประเมินผลการเรียนด้วยเกรดเฉลี่ย(GPA) ในทุกวิชาไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ หรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๕ และตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า ๒.๕๐ หรือร้อยละ ๗๐ ตามระเบียบการวัดผลและประเมินผลตามเกณฑ์ของสภาการพยาบาล
๔) ได้รับ/มีประกาศนียบัตรรับรอง การช่วยชีวิตขั้นสูงจากสถาบันที่สภาการพยาบาลกำหนด ณ.วันที่ประกาศจบการอบรม
Copyright © 2022 -Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. Webmaster: nswww@mahidol.ac.th