คณะพยาบาลศาสตร์ | มหาวิทยาลัยมหิดล |  
เกี่ยวกับภาควิชา

ประวัติความเป็นมา

ภาควิชาการพยาบาลรากฐานเป็นภาควิชาหนึ่งในคณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล   มีหน้าที่รับผิดชอบสอนวิชาในระดับปรีคลินิก (Pre-Clinic) เป็นส่วนใหญ่ ในสมัยที่คุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาลและผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลฯ ในระหว่าง พ.ศ.2478–2505 นั้น  ภาควิชาการพยาบาลรากฐานใช้ชื่อว่าแผนกครูฝึกหัดพยาบาล มีหน้าที่รับผิดชอบสอนและรับภาระดูแลทุกข์สุขของนักเรียนพยาบาลที่เข้าเรียนใหม่ทั้งหมด วิชาต่างๆ ที่สอนมีวิชาในหมวดวิทยาศาสตร์  และวิชาเสริมวิชาชีพหลายวิชา วิชาการพยาบาลโดยตรงมีวิชาศิลปการพยาบาล ซึ่งวิธีสอนในสมัยนั้นจะเป็นการบรรยายให้นักเรียนเข้าใจทฤษฎีก่อน แล้วครูจึงสาธิตวิธีทำการพยาบาลให้ดู หลังจากนั้นนักเรียนจะได้ฝึกหัดทำกับเพื่อนๆ หรือหุ่นในห้องฝึกปฏิบัติการพยาบาลก่อนทุกครั้งแล้วจึงจะทำการพยาบาลกับผู้ป่วยบนหอผู้ป่วย

ในปี พ.ศ.2499 คุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท ได้เปิดรับนักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาล) ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เพิ่มจากหลักสูตรอนุปริญญาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย

ต่อมาในช่วงระหว่าง พ.ศ.2501 – 2515 จากเดิมที่โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยเคยรับนักศึกษาหลักสูตรอนุปริญญาปีละไม่เกิน 100 คน  เพิ่มเป็นปีละ 100 คน  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501  และเป็นปีละ 200 คน  ในระยะต่อมา  โดยรับเข้าศึกษาต้นปีการศึกษา 100 คน และกลางปีการศึกษาอีก 100 คน  แผนกครูฝึกหัดพยาบาลจึงต้องการครูและห้องที่ใช้ฝึกปฏิบัติศิลปการพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งเดิมเป็นห้องขนาดเล็ก บรรจุเตียงได้เพียง  8 – 9 เตียง  จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเตียงเป็น 12 เตียง มีการจัดห้องฝึกปฏิบัติการพยาบาลเลียนแบบหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลให้มากที่สุด เพื่อให้นักเรียนเกิดความคุ้นเคยกับสถานที่ก่อนขึ้นปฏิบัติงานจริง แต่เนื่องจากครูประจำวิชามีไม่กี่คน และนักเรียนต้องกระจายขึ้นฝึกปฏิบัติการพยาบาลหลายหอผู้ป่วย ดังนั้นในช่วงฝึกปฏิบัติ  จึงจำเป็นต้องอาศัยครูผู้ตรวจการ หัวหน้าและพยาบาลประกาศนียบัตรประจำหอผู้ป่วยต่างๆช่วยสอน ให้คำแนะนำและดูแลนักเรียนด้วย

ในปี พ.ศ.2502 ได้ปรับปรุงการบริหารงานแผนกครูฝึกหัดพยาบาลใหม่   โดยแยกเป็น 2 แผนก  คือ  แผนกศิลปการพยาบาล   และแผนกวิทยาศาสตร์รากฐาน  วิชาต่างๆ ที่ 2 แผนก รับผิดชอบดำเนินการสอนนั้นจะใช้ครูร่วมกัน ต่อมาในปี พ.ศ.2515 โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับอนุมัติให้ยกวิทยฐานะเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2515 และได้รวมแผนกศิลปการพยาบาลกับแผนกวิทยาศาสตร์รากฐาน เป็นภาควิชาการพยาบาลรากฐาน 

ในปี พ.ศ. 2519 – 2524 คณะพยาบาลศาสตร์ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขจัดหลักสูตร การอบรม การบริหารการพยาบาลแก่พยาบาลจากโรงพยาบาลต่างๆ  ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  โดยทางกองการพยาบาล  กระทรวงสาธารณสุข  เป็นผู้คัดเลือกพยาบาลในระดับบริหารและเตรียมที่จะเป็นผู้บริหารมารับการอบรมที่คณะพยาบาลศาสตร์  ใช้เวลาอบรม 8 – 12 สัปดาห์

ต่อมา  ในปี พ.ศ. 2525  คณะพยาบาลศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรการอบรม  การบริหารการพยาบาล  ให้มีความทันสมัยขึ้น เป็นหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง  สาขาการบริหารการพยาบาล  ใช้ระยะเวลาอบรม 12 สัปดาห์    โดยทางคณะเป็นผู้สอบคัดเลือกจากพยาบาลทั่วไปทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค   รับนักศึกษาประมาณรุ่นละ 20 – 25 คน

ในปี พ.ศ. 2527  ได้เปิดหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางเพิ่มอีก 1 สาขา  คือ  สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ จำนวนนักศึกษาที่รับในแต่ละรุ่นประมาณ 20 คน หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางทั้ง 2 สาขา อยู่ในความรับผิดชอบของคณาจารย์ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน เป็นหลักสูตรที่เปิดต่อเนื่องทุกปี และต่อมาปี พ.ศ.2532 ได้เพิ่มระยะเวลาในการอบรมจาก 12 สัปดาห์ เป็น 16 สัปดาห์ และในปี พ.ศ.2542 เปลี่ยนหน่วยกิต จากจำนวน 13 หน่วยกิต เป็น 15 หน่วยกิต ในปี พ.ศ.2546 ได้ปรับปรุงหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางให้สอดคล้องกับแนวทางของสภาการพยาบาล โดยมีวิชาแกน 2 หน่วยกิต วิชาเฉพาะสาขา 13 หน่วยกิต และเพื่อให้งานด้านการพยาบาลผู้สูงอายุครบวงจร ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน ได้เล็งเห็นความจำเป็นและความต้องการในด้านการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ จึงได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531  เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติของนักศึกษาหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ

ปี พ.ศ. 2530 คณะฯ ได้แบ่งส่วนราชการเป็นการภายใน โดยตั้งสำนักงานเสริมศึกษาและสาธิตทางการพยาบาล (Learning Resource Center = L.R.C.)  มีผู้แทนคณาจารย์จากภาควิชาต่างๆ เป็นคณะทำงาน สำนักงานฯ เริ่มให้บริการแก่อาจารย์และนักศึกษาทุกหลักสูตรในการยืมสื่อ อุปกรณ์ และใช้ห้องปฏิบัติการเพื่อการเรียนการสอน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2535 มติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดวิชาชีพการพยาบาลเป็นวิชาชีพสาขาขาดแคลนสาขาหนึ่ง และให้สถาบันการศึกษาพยาบาลผลิตพยาบาลเพิ่มมากขึ้นอีกหนึ่งเท่าของที่มีอยู่ (จาก 200 เป็น 400 คน)  จำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น  ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการจัดประสบการณ์การเรียนการสอน   พบว่าโอกาสที่นักศึกษาพยาบาลจะมีประสบการณ์จริงในการฝึกปฏิบัติทักษะทางการพยาบาลบนหอผู้ป่วยน้อยลง คณะพยาบาลศาสตร์จึงพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาภาคปฏิบัติดังกล่าว  ให้มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานเสริมศึกษาและสาธิตทางการพยาบาล เพื่อรวบรวมสื่อและอุปกรณ์การพยาบาล ผลิตคู่มือเพื่อประกอบการเรียนการสอน เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติทักษะทางการพยาบาล อาทิ การพยาบาลพื้นฐาน การประเมินภาวะสุขภาพ โดยจัดจำลอง สถานการณ์บางอย่างที่จำเป็นให้นักศึกษาได้ทดลองฝึกปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อนักศึกษาขึ้นไปปฏิบัติการพยาบาลกับผู้ป่วย  คณะฯจึงแบ่งส่วนราชการเป็นการภายใน ตามคำสั่งคณะพยาบาลศาสตร์ที่ 80/2536  ลงวันที่ 16 กันยายน 2536  โดยแบ่งส่วนราชการของภาควิชาการพยาบาลรากฐานมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักงานเสริมศึกษาและสาธิตทางการพยาบาล  จำนวน 10 คน โดยมีอาจารย์เสาวนีย์  สุบรรณรัตน์ เป็นหัวหน้าหน่วย  หน่วยวิชาบริหารการพยาบาล จำนวน 6 คน โดยมี รองศาสตราจารย์สุลักษณ์  มีชูทรัพย์ เป็นหัวหน้าหน่วย และหน่วยการพยาบาลรากฐาน 12 คน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัสวรรณ เทียนประภาส เป็นหัวหน้าหน่วย สายการบังคับบัญชาทั้ง 3 หน่วยงาน อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลรากฐาน ขณะนั้นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัสวรรณ  เทียนประภาส แต่การบริหารงานภายในหน่วยขึ้นกับหัวหน้าหน่วย  ต่อมาในปี พ.ศ.2538 รองศาสตราจารย์สุลักษณ์  มีชูทรัพย์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลรากฐาน และเป็นหัวหน้าหน่วยบริหารการพยาบาลด้วย ได้มีนโยบายที่จะรวมการบริหารงานทั้ง 3 หน่วยงานเข้าด้วยกัน โดยให้อาจารย์ทั้ง 3 หน่วยงาน เป็นคณะกรรมการภาควิชาฯ ร่วมกัน แต่ยังคงแยกการจัดการเรียนการสอนเฉพาะหน่วยอยู่  ต่อมาในปีพ.ศ.2542 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทองกษัตริย์  ศลโกสุม ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลรากฐาน ได้มีนโยบายกระจายภาระงานให้อาจารย์ทุกคนในภาควิชาฯ และร่วมกันสอนในวิชาที่ภาควิชาฯ รับผิดชอบบางวิชาร่วมกัน  ในปี พ.ศ.2543 รองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ  โพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลรากฐาน ได้ดำเนินนโยบายให้อาจารย์ทั้ง 3 หน่วยงาน ปฏิบัติงานร่วมกัน กระจายภาระงานการเรียนการสอนและการเป็นกรรมการชุดต่างๆ ของภาควิชาฯ ต่อมาคณะพยาบาลศาสตร์ มีคำสั่งที่ 191/2543  ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 ยกเลิกคำสั่งคณะพยาบาลศาสตร์ ที่ 80/2536   ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2536 นั่นคือภาควิชาฯ ไม่แยกเป็น 3 หน่วยงาน อาจารย์ทุกคนกลับมาทำงานร่วมกันในภาควิชาฯ และขอตัวรองศาสตราจารย์ผจงพร  สุภาวิตา  อาจารย์ในภาควิชาฯ ไปปฏิบัติงานตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานเสริมศึกษาและสาธิตทางการพยาบาล  ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 รองศาสตราจารย์ผจงพร  สุภาวิตาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการพยาบาลรากฐาน  จึงได้รักษาการตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานเสริมศึกษาและสาธิตทางการพยาบาลอีก 1 ตำแหน่ง  ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการปรับโครงสร้างภายในคณะพยาบาลศาสตร์และจัดตั้ง สำนักพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการศึกษา สารสนเทศ และการสื่อสาร โดยแต่งตั้งให้อาจารย์วรวรรณ  วาณิชย์เจริญชัย  อาจารย์ในภาควิชาฯเป็นหัวหน้าสำนักงานฯ

ในปี พ.ศ.2558 ภาควิชาฯ มีบุคลากรทั้งหมด 20 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ สาย ก. ปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ 1 คน พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ 18 คน และเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนวิชาการ ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 2 คน คณาจารย์ของภาควิชาฯ เมื่อจำแนกตามตำแหน่งทางวิชาการ ประกอบด้วยรองศาสตราจารย์ 5 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 5 คน อาจารย์ 3 คน และผู้ช่วยอาจารย์ 5 คน แยกตามวุฒิการศึกษา จบปริญญาโท 11 คน ปริญญาเอก 7 คน

รายนามหัวหน้าภาควิชา

พ.ศ. 2502 – 2516  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราณี ผลพันธิน
พ.ศ. 2516 – 2521 รองศาสตราจารย์ลออ หุตางกูร
พ.ศ. 2521 – 2530 ผู้ช่วยศาสตราจารย์จำเรียง กูรมะสุวรรณ
พ.ศ. 2530 – 2535 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราณี จาติเกตุ
พ.ศ. 2535 – 2538 ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัสวรรณ เทียนประภาส
พ.ศ. 2538 – 2541 รองศาสตราจารย์สุลักษณ์ มีชูทรัพย์
พ.ศ. 2541 – 2543 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทองกษัตริย์ ศลโกสุม
พ.ศ. 2543 – 2546 รองศาสตราจารย์ฉวีวรรณ โพธิ์ศรี
พ.ศ. 2546 – 2549  รองศาสตราจารย์ผจงพร สุภาวิตา
พ.ศ. 2549 – 2557 รองศาสตราจารย์จันทนา รณฤทธิวิชัย
พ.ศ. 2557 – 2561 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นารีรัตน์ จิตรมนตรี
พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.วิราพรรณ วิโรจน์รัตน์

 

Copyright © 2024 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved.
Webmaster:
nswww@mahidol.ac.th