คณะพยาบาลศาสตร์ | มหาวิทยาลัยมหิดล |  
ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ

ภาควิชาการพยาบาลรากฐานได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นศูนย์สุขภาพดีสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการดูแลตนเอง ลดภาวะพึ่งพา เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตสังคม  นอกจากนี้ภาควิชาฯ ได้วางแผนจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพยาบาลผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและครอบครัว กิจกรรมประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรวมทั้งการวิจัยด้านผู้สูงอายุ  ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการศึกษาสำหรับนักศึกษาพยาบาล พยาบาล และประชาชนในชุมชม เพื่อให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ครอบครัวและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมแก่สังคม 

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพยาบาลผู้สูงอายุ

เกี่ยวกับศูนย์

ภาควิชาการพยาบาลรากฐานได้มุ่งเน้นในด้านการดูแลผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ทั้งด้านการศึกษา การบริการวิชาการ และการวิจัย โดยกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญได้แก่ ผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ  นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ประเทศประชากรผู้สูงอายุ ดังนั้นภาควิชาฯ ได้จัดตั้งโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นศูนย์สุขภาพดีสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2531 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ในการดูแลตนเอง เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตสังคม และต่อมาได้ดำเนินการโครงการ การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายได้แก่ ประชากรผู้สูงอายุ ผู้ดูแล บุคลากรด้านสุขภาพ และประชากรที่อยู่ในชุมชน โดยกิจกรรมของศูนย์ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลายชนิดได้แก่ การให้ความรู้ด้านสุขภาพ การให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ การประเมินภาวะสุขภาพ การคัดกรองโรค การฝึกอบรม เป็นต้น  ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์ ภายใต้การดำเนินงานของคณาจารย์ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน มีการประสานงานและสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ และชุมชน เพื่อมุ่งหวังให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร  สาธารณสุขจังหวัด ชมรมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาองค์ความรู้มาใช้ในการเรียนการสอน และการดูแลผู้สูงอายุต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติและศูนย์กลาง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณาจารย์ และนักศึกษาพยาบาล ด้านการเรียนการสอน การวิจัยและและพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ
  2. เผยแพร่ความรู้และสร้างเครือข่าย ด้านการดูแลผู้สูงอายุ แก่พยาบาลชุมชน/  เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำ/อาสาสมัครชุมชน และครอบครัว
  3. ให้บริการดูแลสุขภาพองค์รวมแก่ผู้สูงอายุ ที่มีภาวะสุขภาพดีและเจ็บป่วยรวมทั้ง   ครอบครัวผู้ดูแล

การดำเนินการในอนาคต

กิจกรรมที่กำลังดำเนินการ

  • พัฒนารูปแบบกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
  • การให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพแก่ผู้สูงอายุและครอบครัวโดย สอนสาธิตการดูแลและจัดกลุ่มสนับสนุน(group  support) แก่ญาติผู้ดูแลรวมทั้งมีการเยี่ยมบ้าน
  • จัดกิจกรรมอาสาสมัครผู้สูงอายุ  “ กิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน  ใจถึงใจ”
  • จัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้สูงอายุ และผู้ดูแลรวมทั้ง    สร้างเครือข่ายด้านการดูแลผู้สูงอายุแก่พยาบาลชุมชน /เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ผู้นำ/อาสาสมัครชุมชน และครอบครัว
  • เป็นแหล่งข้อมูลวิจัยด้านผู้สูงอายุและแหล่งฝึกปฏิบัติ ของนักศึกษาพยาบาล
  • จัดทำเอกสารด้านผู้สูงอายุ แผ่นพับ/คู่มือการดูแลตนเองสำหรับผู้สูงอายุ

 กิจกรรมที่จะดำเนินการในอนาคต

  • จัดอบรมด้านผู้ดูแลผู้สูงอายุ
  • พัฒนาฐานข้อมูลการวิจัยด้านผู้สูงอายุ
  • พัฒนาเครื่องมือวิจัยด้านการดูแลผู้สูงอายุ
  • สร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการดูแลผู้สูงอายุทั้งในและนอกสถาบัน
  • จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกลางวัน

การบริการทางการศึกษา

  1. การจัดอบรมสัมมนา “การดูแลสุขภาพตนเองวัยเกษียณอายุการทำงาน”
    เป็นโครงการอบรมประมาณ  3 วัน แก่บุคลากรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีอายุการทำงานใกล้เกษียณอายุ 
    ราชการ เพื่อให้มีความรู้ในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม กฎหมายและสวัสดิการรัฐที่ผู้สูงอายุควรทราบ และการใช้ชีวิตในวัยเกษียณอายุ
  2. การเป็นวิทยากรพิเศษ
    คณาจารย์ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน ได้รับทุนและการยอมรับในสาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ โดยได้รับ 
    เชิญเป็นวิทยากรพิเศษในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งในมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์กรเอกชนและภาครัฐต่างๆ การประชุมสัมมนาวิชาการ และการศึกษาวิจัย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของการพยาบาลผู้สูงอายุ

การบริการวิชาการ

  1. Health Promotion Program for the Elderly

    เปิดให้บริการสัปดาห์ละ 3 วัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 12.00 น. 
    จุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้สูงอายุให้มีโอกาสมาพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และได้ร่วม กิจกรรมหลากหลาย เช่น ได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองเพื่อให้มีภาวะสุขภาพกายและจิตสังคมที่ดี

    กิจกรรมการออกกำลังกายหลายรูปแบบ และกิจกรรมนันทนาการ ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุ รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำของผู้สูงอายุ เพื่อเป็นผู้นำด้านการสร้างเสริมสุขภาพแก่ชมรมผู้สูงอายุต่างๆ และในชุมชนต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาพยาบาลหลักสูตรต่างๆ และแหล่งศึกษาดูงาน

  2. โครงการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ  โครงการนี้ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 3 โครงการ ได้แก่  
    • โครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายในการดูและผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสามสมัครหมู่บ้าน และผู้นำชุมชน 
      กิจกรรมประกอบด้วย การประชุมอบรมวิชาการ การเสวนากลุ่ม การสอนสาธิต การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้กระบวนการการจัดการความรู้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และสร้างเครือข่ายในการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง
    • โครงการ การพัฒนาศักยภาพการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ ที่เป็นโรคเรื้อรัง และผู้ดูแล กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ดูแลในครอบครัว ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้นำไปสู่ภาวะทุพพลภาพได้ การดำเนินของโครงการนี้ ในเบื้องต้นเน้นการดูแลตนเองของผู้สูงอายุโรคเบาหวาน และการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ และผู้ดูแล มีการสอนสาธิต และทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อพัฒนารูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้สูงอายุโรคเบาหวาน และสร้างเครือข่ายกับผู้นำและผู้สูงอายุในชุมชน 
    • โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ใจถึงใจ กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้สูงอายุ โครงการนี้เป็นโครงการสร้างผู้นำในการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ 
      ผู้สูงอายุได้ดูแลผู้สูงอายุที่มีความสามารถในการดูแลตนเองลดลง หรือเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องอยู่กับบ้าน โดยให้การพยาบาลเบื้องต้นอย่างง่ายๆ มีการเยี่ยมเยียนที่บ้าน เพื่อประเมินภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุและส่งเสริมสุขภาพจิต กิจกรรมประกอบด้วย มีการรับสมัครอาสาสมัครผู้สูงอายุ การอบรมให้ความรู้ และการไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุที่บ้าน

 

 

 

Copyright © 2024 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved.
Webmaster:
nswww@mahidol.ac.th