โครงการ การพัฒนาศักยภาพแกนนำแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติ แบบบูรณาการบริการวิชาการ และวิจัย
ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยเร่งรัดพัฒนาระบบการเข้าถึงสุขภาพและพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพสำหรับประชาชนในระบบปกติ และประชาชนที่มีความต้องการบริการรูปแบบพิเศษ หนึ่งในกลุ่มนี้คือ แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ โดยดำเนินการใน 4 ด้าน คือ 1. ตรวจสุขภาพ 2. ให้บริการรักษาพยาบาล 3. บริการสร้างเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค และ 4. การเฝ้าระวังโรค โดยให้ดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติทุกคน ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกจังหวัด สร้างอาสาสมัครสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 3 ชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา เป็นการลดช่องว่างในเรื่องภาษาการสื่อสาร โดยมุ่งหวังให้ อ.ส.ต. และพ.ส.ต. สามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยในการดำเนินการ จัดการดูแลสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติ เพื่อการลดอุปสรรคในการสื่อสารต่างภาษาและวัฒนธรรม ลดภาระงานและงบประมาณในระบบบริการสุขภาพ และขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลักในการให้บริการวิชาการแก่สังคมในการส่งเสริมสุขภาพแก่ประชากรทุกกลุ่มวัย โดยไม่แบ่งเชี้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม จึงได้จัดโครงการการพัฒนาศักยภาพแกนนำแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติ แบบบูรณาการ บริการวิชาการ วิจัย และการเรียนการสอนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้และทักษะของแกนนำแรงงานข้ามชาติในการนำความรู้ไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน รวมทั้งเป็นการทำงานเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นกลุ่มคนเปราะปราง ในประเทศไทย
ผลการดำเนินงาน
1. แกนนำแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมโครงการ มีความรู้เรื่องอนามัยส่วนบุคคล อนามัยสิ่งแวดล้อม โภชนาการ อนามัยเจริญพันธุ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การวางแผนครอบครัว) อนามัยแม่และเด็ก สุขภาพจิต จิตเวชและสารเสพติด
2. แกนนำแรงงานข้ามชาติมีความพึงพอใจของแกนนำและแรงงานข้ามชาติที่ร่วมโครงการต่อการเข้าร่วม โครงการ ภาพรวม ร้อยละ 95
3. ภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ ได้แก่โรงพยาบาลสมุทรสาคร หอการค้าจังหวัด สมาคมพราว การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.บางขุนเทียนและมหาชัย)
4. กิจกรรมขยายผลการเรียนรู้ของแกนนำแรงงานข้ามชาติสู่เพื่อนแรงงานข้ามชาติ จำนวน 50 คน
จากผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว สอดคล้องกับ SDG 3 ในเรื่องการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) ครอบคลุมประเด็นด้านสุขภาพและสวัสดิภาพที่สำคัญ ได้แก่ การป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับมารดาและทารกแรกเกิด ป้องกันการแพร่กระจายของเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว ลดละห่างไกลยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ป้องกันการป่วยจากสารเคมีอันตรายและมลพิษต่างๆ และลดความเสี่ยงด้านปัญหาทางสุขภาพจิต และ SDG5 ในเรื่องการสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการปักกิ่งและเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนเหล่านั้น
Related to other SDGs:
Copyright © 2024 -Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. Webmaster: nswww@mahidol.ac.th