โครงการ การพัฒนาสมรรถนะครูในการจัดการเรียนรู้เพศวิถีในโรงเรียน ครูเพศวิถีพันธุ์ใหม่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะพยาบาลศาสตร์มีวิสัยทัศน์ ในการเป็นแกนนำในการสร้างเสริมสุขภาวะแก่สังคม และมีพันธกิจ บริการวิชาการที่ช่วยพัฒนาสุขภาวะของสังคมอย่างยั่งยืน คณะพยาบาลศาสตร์จึงได้จัดโครงการการบริการวิชาการเรื่องการพัฒนาสมรรถนะครูในการจัดการเรียนรู้ เรื่องเพศวิถีและการให้การปรึกษาแก่ครูในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในชื่อโครงการครูเพศวิถีพันธุ์ใหม่ เพื่อช่วยให้วัยรุ่นในโรงเรียนได้เรียนรู้เรื่องเพศวิถีและเข้าถึงแหล่งบริการสุขภาพได้ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 และกฎกระทรวงศึกษาธิการปี 2561 ที่กำหนดให้บุคคลากรในสถานศึกษาได้รับการพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถี และสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในเป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน โครงการฯ มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคลากรครูและผู้บริหารในโรงเรียนให้มีทัศนคติเชิงบวกและการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถี มีทักษะการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีแบบผ่านประสบการณ์และประเมินผลการจัดการเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ยังพัฒนาทักษะการให้การปรึกษาทางเพศให้กับครูเพื่อนำไป ให้การปรึกษากับวัยรุ่นในโรงเรียนได้ ซึ่งลักษณะกิจกรรมในการดำเนินโครงการมีดังนี้
กิจกรรมที่ 1 การประชุมปรึกษาหารือกับผู้บริหารและครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาเขตบางกอกน้อย จำนวน 4 โรงเรียน ในช่วงเดือนมกราคม 2563 ได้แก่ โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม โรงเรียนมัธยมวัดดุสิต โรงเรียนมัธยมวัดนายโรงและโรงเรียนสวนอนันต์ เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบการจัดการบริการวิชาการที่เหมาะสมกับโรงเรียน ทั้งในด้านเนื้อหาสาระ รูปแบบการจัดการอบรมและระยะเวลาที่ใช้ในการจัดอบรม
กิจกรรมที่ 2 จัดอบรมให้กับครูและผู้บริหารทั้งโรงเรียน จำนวน 219 คน จำนวน 3 ครั้ง 4 โรงเรียน ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 1 วัน
กิจกรรมที่ 3 จัดอบรมให้กับครูแกนนำจำนวน 69 คน จำนวน 3 ครั้ง 4 โรงเรียน ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 3 วัน
กิจกรรมที่ 4 ประเมินผลลัพธ์ครูแกนนำก่อนและหลังการอบรมด้วยแบบสอบถาม และการฝึกปฏิบัติการจัดการเรียนรู้และการให้การปรึกษาในสถานการณ์จำลอง ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563
กิจกรรมที่ 5 ประเมินผลลัพธ์ครูและผู้บริหารทั้งโรงเรียนด้วยแบบสอบถามความรู้และทัศคติต่อการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีและการให้การปรึกษา ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563
กิจกรรมที่ 6 สนทนากลุ่มครู ในประเด็นประเมินผลการอบรมและความเป็นไปได้ในการจัดการเรียนรู้เพศวิถีในโรงเรียน จำนวน 4 ครั้ง (4 โรงเรียน) ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563
กิจกรรมที่ 7 สัมภาษณ์ผู้บริหารจำนวน 2 โรงเรียน เกี่ยวกับนโยบายและทิศทางในการจัดการเรียนรู้เพศวิถีในโรงเรียน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563
ตลอดระยะเวลาในการพัฒนาและดำเนินโครงการครูเพศวถีพันธุ์ใหม่ มีครูและผู้บริหารร่วมในการอบรมระยะเวลา 1 วัน เพื่อให้มีทัศคติที่ดีต่อเพศวิถีและหลักการให้การปรึกษาทางเพศ ทั้งสิ้น จำนวน 219 คน และได้ครูแกนนำที่มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีและการให้การปรึกษาทางเพศ จำนวน 69 คน กระจายใน 4 โรงเรียนเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้การดำเนินโครงการบริการวิชาการยังช่วยให้ได้ทราบปัญหาและอุปสรรคที่แท้จริงในการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีในโรงเรียนดังกล่าวที่แท้จริง ได้แก่ 1) หลักสูตรการสอนเพศวิถีที่ไม่สามารถบูรณาการลงสู่หลักสูตรในโรงเรียน ซึ่งโครงการครูเพศวิถีฯ ได้พัฒนาหลักสูตรที่มีเนื้อหาสาระ รูปแบบการสอน และออกแบบบูรณาการในรายวิชาได้ 2) ผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจเรื่องเพศวิถีและต่อต้านการสอนเพศวิถีในโรงเรียน ทางโครงการฯ จึงนำมาวางแผนในการดำเนินการบริการวิชาการในปี 2564 แก่ผู้ปกครอง 3) ระบบการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้และการเชื่อมต่อสถานบริการสุขภาพทางโครงการฯ จึงนำมาวางแผนในการดำเนินการบริการวิชาการในปี 2564
การดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยให้วัยรุ่นในโรงเรียนได้เรียนรู้เรื่องเพศวิถีและเข้าถึงแหล่งบริการสุขภาพได้ ผ่านการจัดการเรียนรู้ของครูและนโยบายสนับสนุนการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีจากโรงเรียน เพื่อช่วยให้วัยรุ่นทุกคนได้เรียนรู้เรื่องเพศวิถีแล้วเกิดความรู้ความเข้าใจ มีทักษะที่จำเป็นในเรื่องเพศ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและปกป้องสิทธิทางเพศของตนเองได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยให้บรรลุ SDG 5 ในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน ของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
Web Link:
Related to other SDGs:
Copyright © 2024 -Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. Webmaster: nswww@mahidol.ac.th