ความเป็นมาของโครงการ
ต้นพ.ศ. ๒๕๔๓ รองศาสตราจารย์ ดร. กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่งคณบดี พ.ศ.๒๕๔๒-๒๕๕๐) มีดำริที่จะก่อสร้างอาคารพระศรีนครินทรขึ้นทดแทนอาคารหลังเดิมที่มีสภาพทรุดโทรมจึงได้จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อหารายได้สมทบกองทุนปรับปรุงและก่อสร้างอาคารพระศรีนครินทร เช่น สร้างพระพุทธเจ้าฟ้าศิริราช พระสมเด็จวัดระฆัง เพื่อให้ผู้สนใจเช่าบูชา เป็นต้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากสปอร์ตโฆษณา ได้รับสั่งให้นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังประสานงานมายังคณบดีเพื่อขอข้อมูลเรื่องนี้เลขาธิการพระราชวังได้แนะนำให้ปรับปรุงอาคารมหิดลอดุลยเดชในคราวเดียวกันทางคณะจึงจัดทำรายละเอียดโครงการก่อสร้างอาคาร
พระศรีนครินทรและอาคารมหิดลอดุลยเดช แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างอาคาร ๒ หลังดังกล่าว และได้พระราชทานเงินจำนวน ๔๔๘,๗๕๕,๕๐๐.๐๐ บาท จากบัญชีสมเด็จพระศรีฯ โดยสำนักพระราชวัง เพื่อการก่อสร้างอาคาร
การเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
คณะพยาบาลศาสตร์ได้ตัดสินใจปรับแบบอาคาร เนื่องจากการก่อสร้างอาคารสูงหลายหลังริมแม่น้ำเจ้าพระยาอาจบดบังทัศนียภาพโดยรวมของโรงพยาบาลศิริราช หลังจากสถาปนิกได้ปรับแบบร่างของอาคารมหิดลอดุลยเดชและอาคารพระศรีนครินทร โดยยุบรวมเป็นอาคารเดียว มีความสูง ๑๕ ชั้นแล้ว ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ คณะฯ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานพระวโรกาสให้เข้าเฝ้าถวายแบบอาคารเพื่อทอดพระเนตร ทั้งนี้ได้มีพระกระแสแนะนำเรื่องรูปแบบอาคารเพิ่มเติม คณะฯ จึงได้ดำเนินการปรับแก้และพัฒนาแบบเป็น ๒ ทางเลือก รวมทั้งอัญเชิญพระนามของทั้ง ๒ พระองค์เป็นนามของอาคารใหม่เป็น “อาคาร
มหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร” ซึ่งได้รับพระราชทานพระวินิจฉัยแบบร่างอาคารว่า ทรงเห็นชอบแบบที่ ๒ เนื่องจากมีลักษณะโปร่งกว่า ในเวลาต่อมาคณะฯ พบว่ามีข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครเรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคารบางชนิดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฯ โครงการก่อสร้างอาคารมหิดลอดุลยเดช – พระศรีนครินทรจึงจำเป็นต้องย้ายสถานที่ก่อสร้างไปยังวิทยาเขตศาลายา |