ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปสาระสำคัญจากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 2 ปี 2558 วันพุธ ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เวลา 12.30-13.30 น. ห้อง 704
เรื่อง ความปลอดภัยของผู้ป่วยทางศัลยกรรม: เส้นทางสู่คุณภาพการดูแลในมิติของการวิจัย
แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดย อ.ดร.สุชาดา ภัทรมงคลฤทธิ์
ความปลอดภัยของผู้ป่วยทางศัลยกรรม: เส้นทางสู่คุณภาพการดูแลในมิติของการวิจัย เป็นประเด็นต่อเนื่องจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 1 ในเรื่อง Patients Safety โดยความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยเป็นประเด็นปัญหาสำคัญและเป็นที่น่าสนใจในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถเพิ่มผลลัพธ์ทางการรักษาพยาบาลได้อย่างชัดเจน ประเด็นความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นที่สนใจปัจจุบันประกอบด้วย
- Infection prevention and control (การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ)
- Health care -associated infection (HCAI)
- Patient safety and invasive procedures (ความปลอดภัยของผู้ป่วยและหัตถการที่รุกล้ำ)
- Unsafe surgery
- Improving medication safety (การปรับปรุงความปลอดภัยในการใช้ยา) - Nurse Safety
- Environment safety - Staff safety
- Nursing Student Safety: near miss AE , collect Data
- Patient safety: Adverse event: near miss AE
งานวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในผู้ป่วยศัลยกรรมมีหลายด้าน เช่น ผลลัพธ์และคุณภาพการรักษาพยาบาล การศึกษา และการพัฒนาเครื่องมือประเมินความปลอดภัยในผู้ป่วยศัลยกรรม ซึ่งได้ยกตัวอย่างงานวิจัยด้านต่างๆ ประกอบ ดังต่อไปนี้
ตัวอย่างานวิจัย 1 การพัฒนาเครื่องมือประเมินความปลอดภัยในผู้ป่วยศัลยกรรมในโรงพยาบาล (Instrument development)
"Patient safety in surgical environments: Cross-countries comparison of psychometric properties results of the Norwegian version of the Hospital Survey on Patient Safety" เป็นงานวิจัยแบบบรรยาย วัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพของเครื่องมือ Hospital Survey on Patient Safety (HSOPS) ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ขนาด 1,100 เตียง ในประเทศนอร์เวย์ โดยกลุ่มตัวอย่างคือ ศัลยแพทย์ พยาบาลผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาล และเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะผ่าตัด จำนวน 575 คน ผลการวิจัยพบว่า อาชีพมีผลต่อการรับรู้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยรับการผ่าตัดแบบดมยาสลบ โดยเครื่องมือดังกล่าวนี้จะประเมินในหัวข้อ เช่น ความเพียงพอของเจ้าหน้าที่ การเรียนรู้และการปรับปรุงองค์กรอย่างต่อเนื่อง และ ข้อเสนอแนะและการสื่อสารเกี่ยวกับข้อผิดพลาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่คุณภาพเครื่องมือในระดับดี และเป็นที่นิยมใช้เพื่อการประเมินความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยทางศัลยกรรม ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามหากมีความสนใจนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในการวิจัยในประเทศไทย เป็นอีกทางเลือกที่ดี แต่ควรต้องมีการแปรภาษา (Back-translation) และหาคุณภาพเครื่องมือ (Validity) ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนไทยด้วย ก่อนนำมาใช้ในการวิจัยด้านความปลอดภัยในผู้ป่วยศัลยกรรมในบริบทของประเทศไทย
ตัวอย่างานวิจัย 2 ผลลัพธ์และคุณภาพการรักษาพยาบาล
An observational study: associations between nurse-reported hospital characteristics and estimated 30-day survival probabilities. (2014). เป็นงานวิจัยแบบบรรยาย วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยรวมด้านโรงพยาบาล (quality system, patient safety management, nurse–physician relationship, staffing adequacy, quality of nursing and patient safety) การมีส่วนร่วมในประเมินความปลอดภัยของผู้ป่วยศัลยกรรมของพยาบาล (nurses' perceptions of organizational characteristics) และระยะเวลา 30 วันปลอดภัยของผู้ป่วยตั้งแต่เข้าและออกจากโรงพยาบาล บนพื้นฐานแนวคิดว่าสภาพแวดล้อมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ มีความสัมพันธ์และผลลัพธ์ทางการรักษาของผู้ป่วย โดยสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี อาจจะเพิ่มความพยายามของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะหลีกเลี่ยงความล้มเหลวและเพิ่มความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก ทำการศึกษาในโรงพยาบาลขนาด 85 เตียงขึ้นไป จำนวน 30 โรงพยาบาล ผลการวิจัยพบว่า ระยะเวลา 30 วันปลอดภัยของผู้ป่วยตั้งแต่เข้าและออกจากโรงพยาบาลสัมพันธ์กับการประเมินคุณภาพทางการพยาบาล (nurse-assessed quality of nursing) และ การรับรู้เรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่ (Subjective perception of staffing adequacy). ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าคุณภาพทางการพยาบาลที่ดี รวมกับการรับรู้เรื่องความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยโดยเจ้าหน้าที่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการพยาบาลและการรักษา โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยหลังการรักษา เป็นต้น
ตัวอย่างานวิจัย 3 การศึกษา
The Impact of Educational Interventions on Enhancing Perceptions of Patient Safety Culture among Jordanian Senior Nurses. (2014). การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย (Patient safety educational interventions) ในพยาบาลอาวุโส ต่อการรับรู้วัฒนธรรมความปลอดภัย (perceptions of safety culture) และอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (rate of reported adverse events) รายงานแผลกดทับ (Pressure ulcers) และรายงานการพลัดตกหกล้มของผู้ป่วย (Patients' falls) เป็นงานวิจัยกึ่งทดลอง ไม่มีกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างคือพยาบาลอาวุโส (Senior nurse) ที่เข้ารับโปรแกรมการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย (Patient safety educational interventions) การศึกษาสำรวจโรงพยาบาลเกี่ยวกับวัฒนธรรมความปลอดภัยของผู้ป่วย (HSPSC) จำนวน 57 คน โดยวัดผลการทดลองก่อนและหลังทดลอง 4 เดือน ผลการวิจัยพบว่า ความถี่ในการรายงานเหตุการณ์ และ การตอบสนองที่ไม่ลงโทษข้อผิดพลาด ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าความปลอดภัยของผู้ป่วยสัมพันธ์กับการรับรู้ของการพยาบาล โปรแกรมการให้ความรู้ดังกล่าวสามารถนำมาใช้โดยผู้บริหารทางการพยาบาล เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยของผู้ป่วยในองค์กร เช่น การรายงาน และ การตำหนิฟรี รวมทั้งสามารถลดอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน
สรุปผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ พบว่าความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยทางศัลยกรรม มีความสัมพันธ์กับหลากหลายปัจจัย (Multifactor) เช่น ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยศัลยกรรมในพยาบาล การรับรู้ของพยาบาลต่อเรื่องความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยศัลยกรรม การสร้างเสริมสภาพแวดล้อมปลอดภัย การส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถนำมาศึกษาในบริบทของประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับความปลอดภัยในผู้ป่วยศัลยกรรม อีกทั้งควรกำหนดเป็นเนื้อหาการเรียนของนักศึกษาพยาบาลในทุกหลักสูตร รวมทั้งกำหนด Patient Safety เป็น research area ใหม่และสำคัญซึ่งยังมีงานวิจัยจำนวนจำกัดมาก โดยเฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรที่ต้องมีการพัฒนางานและบูรณาการงานในทุกๆด้านไปพร้อมๆ กันทั้งด้านการศึกษา การวิจัย และการปฏิบัติการพยาบาลในทางคลินิก เพื่อเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วยศัลยกรรมต่อไป
|