สรุปสาระสำคัญจากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เรื่อง การฟื้นตัวของผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจก
แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดย อ.ดร.สุชาดา ภัทรมงคลฤทธิ์
การทำหน้าที่ของตา
การที่คนเรา มองเห็นได้นั้น เนื่องจากการทำงานร่วมกันของโครงสองชนิดในการรวมแสงให้ไปตกบนจอประสาทตา โครงสร้างแรกอยู่หน้าสุดของลูกตาคือ "กระจกตา" จะทำหน้าที่หักเหแสงเข้าลูกตา โครงสร้างที่สองอยู่ส่วนในของลูกตาเรียกว่า "เลนส์แก้วตา" กระจกตาและเลนส์แก้วตาจะรวมแสงเข้าสู่ตาเพื่อให้ไปตกบนจอประสาทตาเป็นจุดเดียว จากนั้นแสงจะถูกเปลี่ยนกลายเป็นสัญณาณไฟฟ้าส่งไปที่สมองเพื่อตีความหมายเป็นภาพที่เห็นตรงหน้า
ต้อกระจก คือ อะไร
ต้อกระจกหรือที่เรียกว่า Cataract คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตา (Lens) ซึ่งอยู่ในตาของคนเรา (ปกติจะมีลักษณะใสเหมือนกระจก) เริ่มขุ่นมัวขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อย เป็นสาเหตุทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง ผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวจึงมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนหรือเกิดอาการที่เรียกว่า "ตามัว"
ซึ่งสาเหตุของการเกิดต้อกระจกส่วนใหญ่ เกิดจากการเสื่อมตามวัย คือ เมื่อคนมีอายุมากขึ้นเลนส์แก้วตาในตาก็จะเริ่มหนาและแข็งขึ้นที่จุดกึ่งกลาง ซึ่งตำแหน่งที่เกิดการขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาที่พบบ่อยที่สุด คือ บริเวณตรงกลาง (Nuclear) อย่างไรก็ตามการเกิดต้อกระจกนั้นสามารถเกิดได้ในประชากรทุกอายุ แต่จะพบมากในผู้ที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 55 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเป็นต้อกระจกได้ถึง 50 % และเมื่ออายุ 75 ปีขึ้นไปผู้สูงอายุเกือบทุกคนจะเป็นต้อกระจก
อาการและอาการแสดง มีดังนี้
1. สายตาพร่ามัว เห็นภาพเป็นเงาซ้อนซึ่งมองเห็นไม่ชัดเจน เหมือนมีอะไรมาบังภาพบางส่วนไว้ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นช้า ๆ โดยไม่มีอาการปวดตาร่วมด้วย
2. ตาไม่สู้แสง
3. เห็นแสงไฟแตกกระจายเป็นแฉก เป็นรัศมี หรือเป็นวง ๆ ทำให้มีปัญหาเวลาขับรถกลางคืน หรือ ทำให้การอ่านหนังสือยากขึ้น เป็นต้น
4. เห็นสีผิดปกติไปจากเดิม สีไม่สดใสเหมือนเดิม
5. เปลี่ยนแว่นบ่อย ใส่แว่นแล้วยังเห็นไม่ดีขึ้น
6. บางคนมีอาการตามัวเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนเห็นได้ดีกว่า พบในคนที่เป็นต้อกระจกระยะแรก เกิดเป็นฝ้าเฉพาะบริเวณส่วนกลางของเลนส์แก้วตา เมื่ออยู่กลางแจ้งรูม่านตาหดเล็กลงตามปกติ จึงบังส่วนใสซึ่งอยู่รอบนอกของเลนส์แก้วตา ตาจึงต้องมองผ่านเฉพาะส่วนกลางเลนส์แก้วตาซึ่งขุ่น ทำให้มีอาการตามัวเวลาได้รับแสงสว่าง แต่ถ้าอยู่ในที่มืดม่านตาขยาย ตาจะเห็นดีขึ้น เมื่อต้อกระจกเป็นมากขึ้น เกิดฝ้าทั่ว ๆ ไปทั้งเลนส์แก้วตา จะทำให้เกิดตามัวตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวทิ้งไว้นานโดยไม่รักษาอาจเกิดโรคต้อหินเฉียบพลันแทรกซ้อนทำให้ตาบอดในที่สุด
การรักษา
ปัจจุบันการผ่าตัดแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
1.การผ่าตัดเพื่อนำเลนส์แก้วตาออกมา (Extracapsular cataract extraction: ECCE) โดยเปิดแผลยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แล้วเย็บปิดแผล
2.การผ่าตัดโดยวิธีการสลายต้อกระจกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) สลายต้อกระจกและดูดออกมา ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2.2–3.0มิลลิเมตร และใช้เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ ทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดได้เร็ว ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า จึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล จักษุแพทย์ที่ชำนาญสามารถทำผ่าตัดได้ โดยใช้ยาชาหยอดเฉพาะที่เท่านั้น ไม่ต้องฉีดยาหรือดมยาสลบการผ่าตัดจึงมีความปลอดภัยขึ้น
ดังนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้อกระจก จึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านการผ่าตัดเป็นสำคัญ เช่น ขนาดของแผลผ่าตัด ตำแหน่งของแผลผ่าตัด ตำแหน่งของการใส่เลนส์เทียม เป็นต้น ซึ่งการฟื้นตัวของผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดต้อกระจก สามารถประเมินได้จากการมองเห็นของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวที่สำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้กลไกการหายของแผลไม่ดี นั่นคือภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ซึ่ง ประกอบด้วย
1.การติดเชื้อ (Infection) เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดมากที่สุด
2.การมีเลือดออกในช่องหน้าลูกตา (Hyphema)
3.การบวมของกระจกตา (Cornea edema)
4. การบวมของเยื่อบุตา (conjunctival chemosis)
5. Vitreous loss
|