สรุปสาระสำคัญจากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เรื่อง การฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมด้วยไท้ชี่จี้กง
12 มีนาคม 2557 ห้อง 704
ภาควิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์วิทยาเขตศิริราช
แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดย อาจารย์ณัฐมา ทองธีรธรรม
จากวิวัฒนาการการตรวจและการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยมาก เช่นการรณรงค์การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนในสตรีวัยเจริญพันธุ์ และการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมและอัตราซาวด์และการตรวจโดยแพทย์ ปีละ 1 ครั้ง ในสตรีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ทำให้การตรวจพบโรคได้ในระยะต้นๆ (Early stage) รวมทั้งการรักษามาตรฐานในปัจจุบันของมะเร็งเต้านมมีประสิทธิผลสูงขึ้น ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา และฮอร์โมนบำบัด เป็นต้น เป็นผลให้จำนวนผู้ป่วยรอดชีวิตจากมะเร็งเต้านมมีเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่าสตรีไทยมะเร็งเต้านมระยะรอดชีวิตกลุ่มนี้ ยังคงมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตในระดับไม่น่าพอใจ โดยคุณภาพชีวิตและสุขภาวะในด้านจิตสังคมอยู่ระดับปานกลางเท่านั้น
จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่าการบริหารกายจิตแบบไท้ชี่จี้กง เป็นรูปแบบการส่งเสริมสุขภาวะที่ให้ผลดีในหลากหลายกลุ่มผู้ป่วย จึงนำไปสู่ความสนใจการนำมาประยุกต์ใช้ในสตรีไทยมะเร็งเต้านมระยะรอดชีวิต โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงทดลองเพื่อพิสูจน์ผลเชิงประจักษ์ เพื่อเพิ่มสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีในสตรีไทยกลุ่มนี้ต่อไป โดยออกแบบการวิจัยเชิงทดลองเปรียบเทียบสองกลุ่ม วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กง ต่อการรับรู้คุณค่าในตนเอง คอร์ติซอลในปัสสาวะ อาการเหนื่อยล้า และคุณภาพชีวิต ในสตรีไทยมะเร็งเต้านมระยะรอดชีวิต กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือสตรีไทยโรคมะเร็งเต้านมระยะรอดชีวิต ที่มาตรวจตามแพทย์นัดในระยะหลังการรักษาเสร็จสิ้นแล้วมามากกว่า 1 ปี ณ คลินิกเต้านม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จำนวน 30 ราย การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มเลือกเพื่อเข้ารับโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กง และได้รับการพยาบาลตามปกติ (กลุ่มละ15 ราย) เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบประเมินการรับรู้คุณค่าในตนเอง ระดับคอร์ติซอลในปัสสาวะ แบบประเมินอาการเหนื่อยล้า และแบบประเมินคุณภาพชีวิต เก็บรวบรวมข้อมูลใน 3 ระยะคือ ก่อนดำเนินโปรแกรม สัปดาห์ที่ 6 หลังดำเนินโปรแกรม และสัปดาห์ที่ 12 หลังดำเนินโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยการทดสอบความแปรปรวนร่วมแบบมีตัวแปรควบคุม และความแปรปรวนร่วมแบบวัดซ้ำ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติเท่ากับ 0.05
ผลการศึกษาพบว่าหลังจากใช้คะแนนตัวแปรตามก่อนดำเนินโปรแกรมเป็นตัวแปรควบคุม สตรีไทยมะเร็งเต้านมระยะรอดชีวิตที่เข้าร่วมโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กง มีระดับการรับรู้คุณค่าในตนเองสูงขึ้น (p =.026) คอร์ติซอลในปัสสาวะลดลง (p =.005) อาการเหนื่อยล้าลดลง (p =.007) และคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น (p =.048) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในระหว่างสัปดาห์ที่ 6 และ สัปดาห์ที่ 12 หลังดำเนินโปรแกรม ผลการศึกษานี้แสดงถึงประสิทธิผลของโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กง ต่อการเพิ่มการรับรู้คุณค่าในตนเอง ลดคอร์ติซอลในปัสสาวะ ลดอาการเหนื่อยล้า และเพิ่มคุณภาพชีวิตในสตรีไทยมะเร็งเต้านมระยะรอดชีวิต และควรสนับสนุนการนำโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กงนี้ไปประยุกต์ใช้ในสตรีไทยโรคมะเร็งเต้านมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี และในการศึกษาครั้งต่อไปควรมีการศึกษาเชิงทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกับผลการวิจัยว่า การบริหารกาย-จิตแบบไท้ชี่จี้กงนี้มีประโยชน์กับสตรีไทยมะเร็งเต้านมระยะรอดชีวิตในระดับดี อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอเพิ่มเติมว่า ควรมีการนำการบริหารกาย-จิตแบบไท้ชี่จี้กงนี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในในสตรีไทยกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอให้พิจารณาว่าท่าบริหารใดบ้างที่จะสามารถส่งเสริมการบริหารแขน เพื่อป้องกันภาวะแขนบวมหลังผ่าตัดได้ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้สตรีไทยมะเร็งเต้านมระยะรอดชีวิตกลุ่มนี้ มีการไหลเวียนเลือดที่ดีและป้องกันภาวะแทรก ซ้อนหลังผ่าตัด เพื่อส่งเสริมให้สตรีไทยกลุ่มนี้มีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
|