มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องใช้พลังงานที่เก็บสะสมไว้ในร่างกาย ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์รวมถึงพลังงานที่ได้รับมาจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน โดยมารดาจะได้พลังงานจากไขมันที่สะสมไว้ประมาณวันละ 200 kcal ส่วนที่เหลือจำเป็นต้องได้จากการรับประทานอาหารเพิ่มอีก 500 kcal/วัน เพื่อให้มีการสร้างน้ำนมเพียงพอ อย่างไรก็ตามมารดาบางคนอาจมีการเผาผลาญอาหารน้อยหรือรับประทานอาหารเพิ่มเพียงประมาณ 300 kcal/วัน แต่มีการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายน้อยลงก็สามารถสร้างน้ำนมได้อย่างเพียงพอ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถช่วยให้มารดากลับมามีไข่ตกได้ช้าลงกว่ามารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตามจะต้องมีการให้นมแม่อย่างเดียวไม่น้อยกว่า 5 มื้อ/24 ชั่วโมง และต้องมีระยะเวลาในการดูดนมของทารกไม่น้อยกว่า 65 นาที/24 ชั่วโมง รวมถึงต้องให้นมในมื้อกลางคืนด้วย จึงจะทำให้สามารถยับยั้งการตกไข่ได้
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังทำให้มารดาลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะสุขภาพเบี่ยงเบนบางอย่าง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ภาวะกระดูกพรุนในวัยทอง ข้ออักเสบ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึง metabolic syndrome ด้วย |