การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีประโยชน์ทั้งต่อแม่ ลูก สังคม และประเทศชาติ เป็นการเริ่มต้นการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพของประชากรของประเทศ สำหรับประเทศไทยแม้จะมีความพยายามในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากหน่วยงานต่างๆทั้งในระดับชุมชน ประเทศ  และจากองค์กรระดับนานาชาติ เช่น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติมาเป็นเวลานาน ก็ยังมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 4-6 เดือนต่ำอยู่ โดยในปี พ.ศ. 2549 องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ
ได้รายงานว่าประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพียงร้อยละ 5 ทั้งที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 30 สถานการณ์เช่นนี้
ทำให้มีความจำเป็น ที่จะต้องเริ่มต้นการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด จนถึงระยะกลับไปอยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาทิ การที่แม่ขาดความรู้และประสบการณ์ในการแก้ปัญหา  ปัญหาจากบุคคลใกล้ชิดและสภาพแวดล้อมที่ไม่สนับสนุน
และเอื้ออำนวยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

   

          พยาบาลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในทีมสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดกับแม่และญาติ เป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจ ของแม่และญาติในการขอคำแนะนำปรึกษาต่างๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลทุกคนควรมีความรู้พื้นฐาน รวมทั้งการปฏิบัติในการแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างถูกต้อง โดยผ่านการเรียนการสอนในหลักสูตรพื้นฐานทางการศึกษาพยาบาลทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาไปปฏิบัติงานพยาบาลแล้วจะสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปใช้ในการส่งเริมการเลี้ยงลูกดัวยนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากแนวคิดดังกล่าว คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำทางการพยาบาลสถาบันหนึ่งของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในกลุ่มวิชาชีพ ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้อาจารย์พยาบาลมีความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลิตนักศึกษาพยาบาลที่มีความพร้อม และสามารถนำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพของประชาชน

          จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาหลักสูตรและอาจารย์พยาบาลเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับนักศึกษาพยาบาล โดยมีระยะโครงการ ระหว่าง มีนาคม 2552 - ธันวาคม 2553 และได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการเด็กขึ้น เพื่อพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าว ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้กับนักศึกษาพยาบาล  ให้บริการวิชาการเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการเด็กที่ทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศแก่อาจารย์  พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และประชาชนผู้สนใจ ศึกษาวิจัยและเป็นศูนย์ข้อมูลทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการเด็ก โดยได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2553

          ศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการเด็ก ได้ดำเนินงานทั้งด้านวิชาการ บริการวิชาการ และการวิจัย อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับพยาบาลวิชาชีพ โดยการสนับสนุนจากสภาการพยาบาล และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ ประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มโครงการในวันที่  24 มกราคม พ.ศ. 2557 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี   ในโครงการดังกล่าวได้ทำการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ตลอดจนพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานในสถานประกอบการ โดยครอบคลุมจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 1,200 คน 

          ในภายหลังศูนย์ฝึกอบรมฯ ได้ขยายขอบเขตของงานโดยเฉพาะด้านบริการวิชาการ ให้ครอบคลุมไปยังการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดากลุ่มต่างๆ ทั้งมารดาในสถานประกอบการ มารดาวัยรุ่น รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพของเด็กปฐมวัย จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อ จาก “ศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็น “ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสุขภาพเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560

 

 

 

 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th