Breastfeeding & the special care baby
อาจารย์ ดร. พรรณรัตน์ แสงเพิ่ม

           การเจ็บป่วยทันทีหลังคลอดไม่ได้เป็นข้อขัดขวางการให้นมแม่แก่ทารกแรกเกิด หากมีการเตรียมความพร้อมมารดาและให้การช่วยเหลือที่เหมาะสม ทารกแรกเกิดที่เจ็บป่วยส่วนใหญ่มักเป็นทารกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งจะมีพัฒนาการในการดูดกลืนไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ไม่สามารถดูดนมแม่จากเต้าได้แต่ทารกทุกคนจะมีการพัฒนาการดูดกลืน และเรียนรู้ที่จะดูดนมแม่จากเต้าตามเวลาที่เหมาะสม

          ทารกส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาการดูดกลืนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยทารกจะมีการตอบสนองต่อการสัมผัสบริเวณริมฝีปากตั้งแต่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ มีการสร้างเพดานและเพดานอ่อนแยกกันเมื่ออายุครรภ์ 10 สัปดาห์ กลืนได้เมื่ออายุครรภ์ 12-16 สัปดาห์ รับรู้สมเมื่ออายุครรภ์ 12-15 สัปดาห์ ได้กลิ่นเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ดูดได้เมื่ออายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์ ได้ยินเสียงเมื่ออายุครรภ์ 20-24 สัปดาห์ มี Gag reflex เมื่ออายุครรภ์ 23-25 สัปดาห์ มีการหลั่ง lingual lipase เมื่ออายุครรภ์ 26 สัปดาห์ มี rooting reflex เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ และมีการทำงานประสานกันของการดูดการกลืนการหายใจเมื่ออายุครรภ์ 36-37 สัปดาห์ พัฒนาการเหล่านี้บ่งบอกว่าทารกมีความสามารถที่จะพัฒนาการดูดนมแม่จากเต้าได้แม้จะยังไม่ครบกำหนดก็ตาม

          การช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกเจ็บป่วยเหล่านี้ ควรเริ่มจากการไม่แยกมารดาทารกตั้งแต่แรกเกิด โดยอาจให้มารดาอยู่กับทารกในห้องเด็กป่วยก็ได้ ให้มารดาสัมผัสหรืออุ้มทารกให้มากที่สุด สอนและช่วยเหลือมารดาให้บีบเก็บน้ำนมโดยเร็วที่สุดโดยเฉพาะ colostrum เพราะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับทารกที่เจ็บป่วยโดยเฉพาะทารกเกิดก่อนกำหนด เริ่มให้นมทารกเร็วที่สุด อาจเริ่มเพียงเล็กน้อยเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหารในช่วงแรก และวางแผนการให้น้ำนมแม่แก่ทารกด้วยวิธีต่างๆ ก่อนที่ทารกจะพร้อมที่จะดูดนมแม่จากเต้า โดยมีการประเมินความพร้อมของทารกทุกวัน ในขณะเดียวกันหากจำเป็นต้องให้การรักษาโดยการใส่ท่อหลอดลมคอ หรือการใส่สายยางให้อาหาร ควรเอาออกให้เร็วที่สุดและใช้ colostrum หรือน้ำนมแม่ในการทำความสะอาดปากให้ทารก

เมื่อทารกเริ่มดูดนมแม่จากเต้าควรสังเกตและช่วยเหลือดังนี้

  1. กระตุ้น rooting reflex ด้วยการสัมผัสปากของทารกด้วยหัวนมของแม่
  2. ช่วยให้ทารกอมหัวนมและลานนมแม่ให้ลึกพอ โดยสอนมารดาเอาทารกเข้าเต้าเมื่อทารกอ้าปากกว้างและลิ้นไม่กระดกขึ้น และให้คางของทารกชิดกับเต้านมแม่
  3. ช่วยให้ทารกดูดประกบติดเต้านมได้ดีขึ้นโดยการอุ้มทารกให้ชิดตัวแม่ หลีกเลี่ยงการจับเต้านมที่ชิดลานนมมากเกินไป และอุ้มด้วยการรองรับทารกทั้งตัวให้มั่นคง
  4. กระตุ้นให้ทารกดูดโดยการพูดกับทารก จับหรือลูบฝ่ามือทารก หรือบีบเต้านมเบาๆ ให้เนื้อเต้านมสัมผัสเพดานอ่อนของทารก
  5. หากทารกยังคงไม่สามารถดูดนมจากเต้านมแม่ได้แม้จะช่วยเหลือทุกอย่างแล้ว ควรให้กำลังใจแม่ และให้มารดาสัมผัสทารกให้มากที่สุด และอาจใช้วิธีการหยดน้ำนมเข้าปากทารกเพื่อกระตุ้นให้ดูดก็ได้
 
 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th