Alternative methods of infant feeding
อาจารย์ ดร. พรรณรัตน์ แสงเพิ่ม

           ทารกแรกเกิดที่ยังไม่สามารถดูดนมจากเต้ามารดาได้จำเป็นต้องได้รับอาหารโดยวิธีอื่นๆ ซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับสภาวะของทารก โดยอาจแยกเป็นกลุ่มของวิธีการให้อาหารทารกแบบผู้ป้อนเป็นผู้ควบคุม (carer led) และทารกเป็นผู้ควบคุม (baby led)
  1. Intravenous feeding: สามารถให้ควบคู่ไปกับการให้น้ำนมแม่โดยการให้ทางสายให้อาหารได้ โดยให้มารดาบีบเก็บน้ำนมไว้สำหรับให้แก่ทารก
  2. Tube feeding: ทารกจะไม่ได้มีโอกาสดูดกลืนและขาดการกระตุ้นการทำงานของ lipase อีกทั้งการใส่สายให้อาหารอาจทำให้ขัดขวางการเคลื่อนไหวของลิ้น จึงไม่ควรยึดสายให้อาหารที่ริมฝีปากล่าง และเอาออกให้เร็วที่สุด
  3. Dropper: ใช้สำหรับการให้น้ำนมในปริมาณน้อยๆ หรือหยดบนหัวนมและลานนมของมารดาเพื่อให้ทารกรับรู้รส
  4. Syringe feeding: ใช้สำหรับการให้น้ำนมปริมาณน้อยๆ โดยเฉพาะ colostrum แต่ทารกจะต้องสามารถควบคุมความสัมพันธ์กันของการกลืนและการหายใจได้ ไม่เช่นนั้นทารกอาจสำลักได้
  5. Cup feeding: ช่วยกระตุ้นการทำงานของ lipase และกระตุ้นให้เกิดการทำงานที่เป็นจังหวะของลิ้นและขากรรไกร ช่วยฝึกการดูดนมแม่ให้แก่ทารก รวมทั้งทารกสามารถควบคุมจังหวะและปริมาณนมที่กินในแต่ละครั้งได้ด้วยตนเอง จึงเสี่ยงต่อการสำลักน้อยมากหากผู้ป้อนสามารถป้อนได้อย่างถูกวิธี อย่างไรก็ตาม การป้อนนมแก่ทารกด้วยวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับทารกคลอดครบกำหนดทั่วไป เพราะทารกอาจกินนมเร็วเกินไปและเกิดภาวะติดถ้วยเนื่องจากได้รับน้ำนมง่ายกว่าการดูดนมแม่จากเต้า

วิธีการป้อนน้ำนมด้วยถ้วย: ต้องอุ้มทารกศีรษะสูงกึ่งนั่ง วางถ้วยที่ริมฝีปากล่างและเอียงถ้วยให้น้ำนมปริ่มอยู่ขอบถ้วยเท่านั้น และไม่ควรเทนมเข้าปากทารก

  1. Spoon feeding: เหมาะสำหรับป้อนอาหารที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว ไม่เหมาะสมในการป้อนน้ำนมให้แก่ทารก อย่างไรก็ตามสามารถใช้ป้อน colostrum ให้กับทารกได้
  2. Finger feeding: ไม่เหมาะในการใช้เพื่อให้อาหารทารก อาจใช้เพื่อทดสอบความสามารถในการดูดของทารกได้
  3. Breastfeeding supplementer: ทารกต้องมีการทำงานที่สัมพันธ์กันของการดูด การกลืน และการหายใจแล้ว อาจใช้ช่วยให้ทารกได้รับน้ำนมมากขึ้นในทารกที่ดูดนมแม่จากเต้าได้ไม่แรงพอ และใช้ช่วยให้ทารกดูดกระตุ้นน้ำนมให้แก่มารดาได้ 
  4. Bottle feeding: ทารกต้องมีการทำงานที่สัมพันธ์กันของการดูด การกลืน และการหายใจแล้ว แต่เป็นการป้อนนมที่ผู้ป้อนเป็นผู้ควบคุม การไหลของน้ำนมออกจากจุกนมอาจเร็วเกินไป ทำให้การทำงานของระบบหายใจและหัวใจต้องทำงานมากขึ้น และทำให้ทารกมีพัฒนาการของช่องปากที่ไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถดูดน้ำนมแม่จากเต้าได้ดี อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ทารกจำเป็นต้องได้รับน้ำนมโดยการป้อนขวด ควรสอนมารดาถึงท่าที่เหมาะสมในการป้อนนมทารกเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อในช่องหู

กล่าวโดยสรุปแล้ว มีวิธีการให้นมแก่ทารกให้เลือกหลายวิธี ผู้ป้อนควรพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธีและเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับสภาวะของทารก รวมทั้งควรเน้นการให้อย่างถูกต้องด้วย

 
 
Copyright © 2021 Faculty of Nursing, Mahidol University. All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th