องค์การอนามัยโลก และ องค์การยูนิเซฟ ได้จัดทำโครงการสายสัมพันธ์แม่ลูกขึ้นโดยกำหนดให้มีการดำเนินงานตามแนวทางบันได 10 ขั้น และได้มีการปรับปรุงแนวทางบันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในปี ค.ศ. 2009 ให้มีความชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ดังนี้
ขั้นที่ 1 มีนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สื่อสารกับ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคนได้เป็นประจำ
ขั้นที่ 2 ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคนให้มีทักษะที่จะนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ โดยกำหนดชั่วโมงทฤษฎี 20 ชั่วโมง และปฏิบัติ 3 ชั่วโมง
ขั้นที่ 3 ชี้แจงให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนทราบถึงประโยชน์และวิธีการ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ขั้นที่ 4 ช่วยแม่เริ่มให้ลูกดูดนมแม่ภายในครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด เพิ่มเติมในเรื่องการให้แม่-ลูก ทุกคนได้อยู่ด้วยกันแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังเกิดอย่างน้อย 60 นาที และกระตุ้นให้แม่สังเกตสัญญาณที่ลูกแสดงความพร้อมในการดูดนม พยาบาลสามารถช่วยได้หากจำเป็น
ขั้นที่ 5 สอนแม่ให้รู้วิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และวิธีการทำให้น้ำนมมีปริมาณพอเพียงแม้ว่าแม่จะต้องแยกจากลูก เพิ่มเติมในเรื่องการสอนแม่ที่ไม่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้รู้ถึงความเสี่ยง และสอนวิธีการที่ถูกต้องในการเตรียมอาหารอื่น
ขั้นที่ 6 ไม่ให้ให้นมผสม น้ำ หรืออาหารอื่นแก่เด็กแรกคลอดนอกจากนมแม่ เว้นแต่จะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยแม่จะต้องได้รับข้อมูลที่ชัดเจนภายหลังการให้คำปรึกษา เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ของการให้อาหารแต่ละอย่าง
ขั้นที่ 7 ให้แม่และลูกอยู่ห้องเดียวกันตลอด 24 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องแยกให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร
ขั้นที่ 8 สนับสนุนให้ลูกได้ดูดนมแม่ตามต้องการ อย่างไม่จำกัดเวลา และให้ดูดจนอิ่มในแต่ละมื้อ โดยมารดาต้องสังเกตอาการแสดงว่าเด็กหิว
ขั้นที่ 9 ไม่ให้ลูกดูดหัวนมยางหรือหัวนมปลอม โดยแม่ต้องได้รับการสอนให้ทราบความเสี่ยงในการให้นมขวด
ขั้นที่ 10 ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และ ส่งแม่ไปติดต่อกับกลุ่มดังกล่าวเมื่อออกจากโรงพยาบาลหรือคลินิก |