หลักการและเหตุผล
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทารกแรกเกิดควรได้รับเพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรงอันจะนำไปสู่การพัฒนาการที่ดีตลอดทุกช่วงวัย การลงทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่งทั้งระยะสั้นและระยะยาว (Kramer & Kakuma, 2012; Hansen, 2016) อย่างไรก็ตามอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนในประเทศไทยยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 50 จากการสำรวจพบว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราดังกล่าวเป็นไปอย่างช้าๆ จากร้อยละ 5.4, 12.3 และ 23.1 ในปี พศ. 2549, 2555 และ 2559 ตามลำดับ ในขณะที่ปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนทั่วโลกเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 41 และ World Health Assembly (2018) ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มอัตราการดังกล่าวเป็นร้อยละ 70 รวมทั้งปรับเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่องนาน 2 ปีเป็นร้อยละ 60 ภายใน พศ. 2573 ซึ่งสะท้อนชัดถึงความตื่นตัวของทั่วโลกต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป้าหมายที่เกิดขึ้นใหม่นี้นับเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องในหลายระดับ กล่าวคือ ปัจจัยระดับภายในบุคคล เช่น ความรู้และทักษะ ทัศนคติ ความตั้งใจ และความมั่นใจของมารดา เป็นต้น ปัจจัยระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น การสนับสนุนจากครอบครัว การสนับสนุนจากบุคลากรทางแพทย์ เป็นต้น ปัจจัยระดับหน่วยงานหรือองค์กร ระดับชุมชน และระดับนโยบายสาธารณะ (Brown, et al., 2013; Chapman & Pérez-Escamilla, 2012; McLeroy, et al., 1988) การสนับสนุนจากบุคลากรทางสุขภาพโดยเฉพาะพยาบาล นับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากพยาบาลเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับมารดาและทารกมากที่สุด มีบทบาทเด่นชัดอย่างมากในการให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ฝึกทักษะ และให้การช่วยเหลือ ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด (Almeida, et al., 2015; Whalen & Cramton, 2010) ในทางกลับกันการที่มารดาขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากพยาบาลจะส่งผลทางลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ (Lewallen & Street, 2010) การศึกษาทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของ Almeida และคณะ (2015) จำนวน 18 เรื่องพบว่าบุคลากรทางสุขภาพรับรู้ว่างานด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นงานที่มีความท้าทาย ผู้ทำงานต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชี่ยวชาญด้านทักษะในการช่วยเหลือและการรับรู้ความรู้สึกของมารดา ซึ่งความจำเป็นของทักษะดังกล่าวยังคงถูกละเลยจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
สมาคมพยาบาลนมแม่ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ ความสามารถและสมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการขับเคลื่อนงานด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้การเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของการทำงานด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายใต้งานวิจัยและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พยาบาลวิชาชีพจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะให้ทันสมัยตลอดเวลาผ่านการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือมาปรับใช้เพื่อพัฒนางานด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สมาคมพยาบาลนมแม่ประเทศไทยจึงกำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการและอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับพยาบาลและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และผู้ที่สนใจ รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงาน และการสร้างเครือข่ายผู้ที่ทำงานส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อันจะนำไปสู่การสร้างบุคลากรที่ความรู้ความสามารถ มีทักษะ และทัศนคติที่ดีต่อการขับเคลื่อนงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป
วัตถุประสงค์
- เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของพยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุข ให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
- ฟื้นฟูทักษะการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งทักษะการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีประสิทธิภาพ
- สร้างเครือข่ายทางวิชาการ และการทำงานด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างผู้เข้าร่วมการประชุม
- เผยแพร่การดำเนินงานของสมาคมพยาบาลนมแม่ประเทศไทยแก่บุคคลภายนอก
กลุ่มเป้าหมาย
พยาบาลและอาจารย์พยาบาลที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งผู้ที่สนใจ จำนวน 250 คน
ระยะเวลาดำเนินการ
วันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2562
สถานที่จัดประชุม
โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ
ผู้รับผิดชอบโครงการ
สมาคมพยาบาลนมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หน่วยการศึกษาต่อเนื่อง (CNEU)
* หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ(CNEU) 18 หน่วยคะแนน
|