หลักการและเหตุผล

สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย พบว่า โครงสร้างประชากรไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ในสัดส่วนอัตราการเกิดลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ประชากรวัยทำงานเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง ประกอบกับค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยยืนยาวขึ้น ทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากประมาณการประชากรของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2553-2583 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ปี พ.ศ. 2563 มีประชากรสูงอายุจำนวน 12,622,000 คน โดยมีอัตราส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 17.5 คน และในปี พ.ศ. 2573 จะมีประชากรสูงอายุจำนวน 17,624,000 คน โดยมีอัตราส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 25.1 คน สถิติดังกล่าวนี้แสดงถึงประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) และจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2564  จากสถานการณ์ด้านประชากรข้างต้น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนสังคม จึงต้องร่วมกันกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วถึงผู้สูงอายุทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล ช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีและความมั่นคงของชีวิต ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ (พ.ศ. 2545-2564) ที่มุ่งเน้นด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ  การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย การดูแลตนเองเบื้องต้น การสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงอายุ การส่งเสริมด้านการทำงานและการหารายได้ของผู้สูงอายุ หลักประกันสุขภาพระบบบริการและเครือข่ายเกื้อหนุน  และระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ

ดังนั้น ก้าวย่างที่สำคัญของวิชาชีพการพยาบาล โดยเฉพาะในสังคม 4.0 ซึ่งมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัย ครอบคลุมการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างประชากรไทยกลุ่มต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุให้มีสุขภาวะที่ดี ทั้งทางกาย จิต และสังคม  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชฯ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช และสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย จึงเห็นสมควรให้จัดการประชุมวิชาการคณะพยาบาลศาสตร์ ประจำปี 2561  เรื่อง สูงวัยสง่างามในสังคม 4.0 (Smart Ageing in Smart 4.0 Society) ทั้งนี้ เพื่อให้พยาบาลและบุคลากรทีมสุขภาพได้ตระหนักและเตรียมความพร้อม ในการดูแลประชากรผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและได้รับความเท่าเทียมกัน

* หน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องฯ(CNEU) 16 หน่วยคะแนน

วัตถุประสงค์

  1. เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจทางด้านระบบสุขภาพ การจัดการและการดูแลในประชากรผู้สูงอายุที่สนองตอบต่อปัญหา และสถานการณ์ด้านสุขภาพและสังคมของประเทศ
  2. เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดเครือข่ายการเรียนรู้ที่สะท้อนมุมมอง ประสบการณ์ การปฏิบัติงานในการดูแลประชากรผู้สูงอายุในแต่ละมิติและบริบทของการพยาบาล

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ผู้เข้าร่วมการประชุมได้รับทราบสถานการณ์ด้านสุขภาพของประชากรผู้สูงอายุ พร้อมทั้งได้รับความรู้ มุมมองในการวิจัยทางการพยาบาลที่สอดรับกับปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชากรผู้สูงอายุ
  2. เกิดการพัฒนางานด้านบริการ วิจัยและนวตกรรมในการดูแลสุขภาพประชากรผู้สูงอายุทั้งกลุ่มปกติ  และกลุ่มที่มีความเจ็บป่วย 
  3. เกิดเครือข่ายบุคลากรทางการพยาบาลที่สามารถทำงานเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาคุณภาพการบริการดูแลประชากรผู้สูงอายุได้

 

 
 
 
 
Copyright © 2017  Faculty of Nursing, Mahidol University All rights reserved. 
Webmaster:
 nswww@mahidol.ac.th

 

 

login