การหกล้ม เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากการสูญเสียการทรงตัว โดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นผลทำให้ร่างกาย หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายปะทะกับสิ่งต่างๆ ซึ่งผลกระทบ ของการหกล้มไม่เพียงส่งผลต่อสูงอายุเท่านั้น ยังส่งผลต่อครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ ดังนี้
ผลกระทบของการหกล้ม
1. ด้านร่างกาย ผู้สูงอายุที่หกล้ม อาจได้รับการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฟกช้ำ รอยขีดข่วน หรือในระดับที่รุนแรง เช่น การมีภาวะกระดูกหัก การบาดเจ็บของศีรษะ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
2. ด้านจิตใจ ที่สำคัญคือ ความกลัวการหกล้ม ส่งผลให้ผู้สูงอายุนั้นมีความวิตกกังวล สูญเสียความมั่นใจในการเดินและการทำกิจกรรมต่างๆ ลดการทำกิจวัตรประจำวัน และอาจทำให้เป็นผู้มีภาวะพึ่งพาได้
3. ด้านสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้สูญเสียค่ารักษาพยาบาลหลังการหกล้ม สูญเสียเวลาการทำงานของญาติเมื่อต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือเมื่อเกิดความพิการ
ปัจจัยเสี่ยงของการหกล้ม สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. ปัจจัยเสี่ยงภายในร่างกาย ได้แก่ ปัจจัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านสายตา เช่น สายตายาว มองไม่ชัด การเปลี่ยนแปลงระบบกล้ามเนื้อและกระดูก มีความเสื่อม ของข้อต่อ เอ็น ทำให้มีข้อจำกัดการเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้สูงอายุถ่ายปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มได้ ปัจจัยที่เกิดจากความเจ็บป่วย เช่น โรคในระบบไหลเวียน อาการแขนขาอ่อนแรง การเจ็บป่วยเฉียบพลัน ภาวะสมองเสื่อม และผลข้างเคียงจากการรับประทานยา เช่น กลุ่มยาลดความดันโลหิต ยานอนหลับ ยาต้านอาการซึมเศร้า เป็นต้น
2. ปัจจัยเสี่ยงภายนอกร่างกาย ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทั้งจากภายในบ้าน และภายนอกบ้าน เช่น พื้นลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ การจัดวางสิ่งของไม่เป็นระเบียบ การใช้เครื่องเรือนในบ้านไม่เหมาะสม การสวมรองเท้าขนาดไม่พอดีกับเท้า เป็นต้น
การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการหกล้มในผู้สูงอายุนั้น มีหลายระบบเข้ามีเกี่ยวข้อง การป้องกันการ หกล้ม จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งสามารถกระทำได้ ดังต่อไปนี้
1. ประเมินและค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการหกล้ม และดำเนินการแก้ไข เช่น แสงสว่างภายในบ้าน และบริเวณทางเดิน พื้นที่ลื่นและชื้นแฉะ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่ชำรุด เป็นต้น
2. การให้ความรู้ โดยเน้นถึงปัจจัยเสี่ยงของการหกล้ม เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันการหกล้ม
3. การส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ ได้แก่ การออกกำลังกาย เน้นการบริหารกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรงและเพิ่มความสามารถในการทรงตัว เช่น การออกกำลังกายแบบไทเก็ก เป็นต้น
4. ประเมินการใช้ยา หากได้รับยาหลายชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดการหกล้ม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
5. แนะนำการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินที่ถูกวิธี
เอกสารอ้างอิง
Boyd, R., & Stevens, J. A. (2009). Falls and fear of falling: Burden, beliefs and
behaviours. Age and Ageing, 38(4), 423-428.
Shin, K. R., Kang, Y., Kim, M. Y., Jung, D., Kim, J. S., Hong, C. M., et al. (2010). Impact of
depression and activities of daily living on the fear of falling in Korean community-dwelling elderly. Nursing & Health Sciences, 12(4), 493-498.
Stomski, N., (2010). Fall: Risk factors in the elderly. Retrieved January 25, 2010. from
http://proquest.umi.com/pqdweb?did=2002780161&sid=3&Fmt=3&clientld=49111 &RQT=309&VName=PQD
Tideiksaar, R. (Ed.). (2010). Fall in older people prevention & management (4th ed.).
Baltimore: Health Professions Press.
|