ในช่วงของเดือนตุลาคมในปีที่ผ่านมา หลายคนคงมีประสบการณ์ที่เป็นวิกฤติของชีวิตอันเนื่องมาจากมหาอุทกภัยที่ก่อให้เกิดการสูญเสีย เช่น สูญเสียทรัพย์สินที่หามาทั้งชีวิต หรือในบางรายอาจสูญเสียคนที่เป็นที่รัก ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ หลายๆคนต้องรู้สึกเจ็บปวด เศร้าเสียใจ และระทมทุกข์กับการสูญเสียที่เกิดขึ้น บางท่านอาจใช้เวลาไม่นานนัก แต่บางท่านอาจใช้เวลานานในการทำใจหรือยอมรับกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าคนไทยอย่างเราๆที่นับถือศาสนาพุทธจะมีหลักธรรมคำสอนให้รู้จักความเป็นจริงของชีวิตว่า ชีวิตต้องเผชิญกับการ เกิด แก่ เจ็บและตาย ซึ่งสอนให้เรารู้ว่า ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การสูญเสียจึงสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกขณะจิต ถ้ามองง่ายๆ คือ เราในวันนี้ ก็ไม่เหมือนเราในเมื่อวาน เราได้สูญเสียความเยาว์วัยไปในแต่ละวัน แต่ความเป็นจริงนี้เป็นความจริงที่หลายๆท่านคงมองข้าม หรือรู้สึกว่าเป็นการยากที่จะยอมรับว่าได้เกิดกับชีวิตของเราแล้ว หรือบางท่านอาจไม่ได้มีการเตรียมตัวเตรียมใจที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น น้ำท่วม ความผูกพันในทรัพย์สิน บ้านที่พักอาศัย หรือคนรักทำให้เรามีความยึดมั่นในตัวตน ในทรัพย์สินของเรา ในคนของเรา จึงทำให้ไม่สามารถปล่อยวางกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามชีวิตของเราก็ไม่สามารถหนีจากความเป็นจริงนี้ได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับการสูญเสียและหาวิธีการเผชิญกับการสูญเสียที่เหมาะสมจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้
เมื่อเกิดการสูญเสีย คนเราจะมีปฏิกริยาตอบสนองต่อการสูญเสีย คือ ความเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เปรียบเสมือนแผลสดที่ต้องการการรักษา และหากได้ดูแลแผลเป็นอย่างดี แผลจะค่อยๆหาย แต่อาจเหลือรอยแผลเป็นไว้บ้าง แม้ว่าหลายๆการสูญเสียจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด โกรธ หรือสิ้นหวัง แต่ในทางกลับกันการสูญเสียก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา หรือ การเติมเต็มชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น การเข้าใจเรื่องความเศร้าเสียใจและการสูญเสียจึงเป็นสิ่งสำคัญในการให้การช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับความสูญเสีย อลิซาเบต คูเบอร์รอส อธิบายปฏิกิริยาตอบสนองต่อการสูญสียไว้เป็น ๕ ระยะ ดังนี้
ระยะที่ ๑ ปฏิเสธ บุคคลจะไม่ยอมรับว่าเกิดการสูญเสีย บุคคลมักพูดว่า “ไม่จริง” “เป็นไปไม่ได้” ซึ่งการปฏิเสธในระยะนี้จะช่วยปกป้องบุคคลต่อความจริงที่เจ็บปวด
ระยะที่ ๒ โกรธ เมื่อความจริงเริ่มปรากฎ บุคคลจะเกิดความรู้สึกเสียใจ รู้สึกผิด ละอายใจ รู้สึกไร้ความหวัง โทษตนเอง หรือคนอื่น รู้สึกโกรธตนเอง และคนอื่น มีความวิตกกังวลมากขึ้น สับสน และคิดกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่สูญเสียตลอดเวลา
ระยะที่ ๓ ต่อรอง บุคคลจะพยายามต่อรองกับพระเจ้าให้มีโอกาสอีกครั้งหรือมีเวลามากกว่านี้ เพราะยังไม่พร้อมต่อการจากไปในตอนนี้ หรือบุคคลอาจคิดหาทางเลือกอื่นไว้เป็นความหวังโดยอาจมีคำพูด เช่น “ถ้าเราเป็นแฟนกันไม่ได้ เราเป็นเพื่อนกันได้ไหม”
ระยะที่ ๔ ซึมเศร้า บุคคลจะรู้สึกอาลัยต่อสิ่งที่สูญเสีย เป็นระยะที่เจ็บปวดมาก บุคคลจะเผชิญหน้ากับความรู้สึกของการสูญเสียบุคคลหรือสิ่งที่มีคุณค่า โดยอาจแสดงออกถึงการถดถอย การถอยหนี และแยกตัว
ระยะที่ ๕ ยอมรับ บุคคลจะมีความวิตกกังวลลดลง และมีวิธีการในการจัดการกับการสูญเสีย การคิดกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียลดลง และมีความสนใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการสูญเสียในแต่ละบุคคลอาจไม่เรียงไปตามระยะที่กล่าวมานี้ บางคนอาจผ่านระยะหนึ่งไปแล้วและวนกลับมาที่ระยะเดิมได้
แนวทางที่จะช่วยให้บุคคลจัดการกับความเศร้าเสียใจจากการสูญเสีย ประกอบด้วย
๑) ให้เวลากับความรู้สึกเศร้าเสียใจ ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย ๑ ปีที่จะเรียนรู้และอยู่กับชีวิตที่มีการสูญเสีย
๒) แสดงความรู้สึกออกมา ความรู้สึกต่างๆ เช่น โกรธ กังวล โดดเดี่ยว และรู้สึกผิด เป็นปฏิกริยาตอบสนองต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นที่บุคคลต้องการที่ที่ปลอดภัยในการแสดงความรู้สึกเหล่านี้ออกมา โดยอาจผ่านการเล่าเรื่องของผู้ตายหลายๆครั้งเท่าที่ผู้เล่าอยากจะเล่า
๓) สร้างตารางกำกับการทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้การก้าวผ่านแต่ละวันเป็นไปได้ง่ายและเกิดความเชื่อมั่นในการเผชิญชีวิตต่อไป
๔) ไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถามในชีวิต สิ่งที่จะช่วยได้คือ การอ่านหนังสือที่เขียนโดยผู้มีประสบการณ์ในลักษณะเดียวกัน เพื่อเรียนรู้วิธีต่างๆที่สามารถนำมาใช้จัดการกับชีวิต
๕) ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง ในเรื่องของการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การทำกิจกรรมต่างๆ การออกกำลังกาย และถ้าหากปัญหามีความรุนแรงและต่อเนื่องอาจปรึกษาแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือ
๖) คาดหวังถึงการเศร้าเสียใจที่อาจเกิดขึ้น บางรายอาจรู้สึกดีขึ้น แต่อาจมีการตอบสนองต่อการสูญเสียในรูปแบบอื่น เช่น ฝันถึง มองเห็น หรือ คิดเกี่ยวกับผู้ตาย
๗) ให้เวลาตนเอง โดยอาจให้เวลาตนเองสักระยะในการปรับตัวต่อการสูญเสียซึ่งอาจพักการทำงานประจำไว้ก่อน
๘) ทำพิธีกรรมทางศาสนา ให้กับผู้ตาย จะช่วยให้จิตใจสบายขึ้น รวมทั้งการระลึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับผู้ตาย หรือ พูดคุยกับรูปภาพของผู้ตายในบางช่วงของวัน อาจช่วยให้บุคคลรู้สึกสุขสบายขึ้น
๙) ถ้ารู้สึกว่าไม่ดีขึ้นภายในสองสามสัปดาห์ ให้ปรึกษาแพทย์ หรือถ้ามีปัญหาทางอารมณ์ในอดีต เช่น ซึมเศร้า หรือ ใช้สารเสพติด ควรมีแหล่งช่วยเหลือทางจิตใจ เพราะว่ามีโอกาสที่จะเกิดอาการเหล่านี้ซ้ำได้อีก
หากบุคคลต้องการความช่วยเหลือทางจิตใจจากการสูญเสียหรือปัญหาทางจิตใจอื่นๆสามารถมาปรึกษาที่ศูนย์บริการปรึกษา ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ ชั้น 7 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในวัน เวลาราชการ |