การจัดการความรู้
วิทยานิพนธ์ เรื่อง "ปัจจัยส่วนบุคคล เวลาที่เริ่มให้นมแม่ และการสนับสนุนจากพยาบาล ในการทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายในมารดาหลังผ่าตัดคลอด"
คณะกรรมการพัฒนาอาจารย์และการจัดการความรู้ ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ปัจจัยส่วนบุคคล เวลาที่เริ่มให้นมแม่ และการสนับสนุนจากพยาบาล ในการทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายในมารดาหลังผ่าตัดคลอด”โดยมี อาจารย์ ศศิธารา น่วมภา อาจารย์ประจำของภาควิชาฯ เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 เวลา 12.30 – 13.30 น.ณ ห้อง 801/1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทำนาย (Predictive research design) มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ศึกษาอำนาจในการทำนายของอายุ ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การรับรู้สมรรถนะในตนเอง เวลาที่เริ่มให้นมแม่ และการสนับสนุนจากพยาบาล ต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายในมารดาหลังผ่าตัดคลอด ใช้กรอบแนวคิดในการวิจัยดังนี้
ประชากร ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นมารดาหลังคลอดที่คลอดด้วยวิธีการผ่าตัด ที่หอผู้ป่วยหลังคลอดสามัญ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลศิริราช คำนวณขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ตามหลักการวิเคราะห์สถิติถดถอยโลจิสติค (Logistic regression analysis) (Tabachnick & Fidell, 2001) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 110 ราย
เครื่องมือที่ใช้วิจัยประกอบด้วยเครื่องมือ 6 ชุด ดังนี้
- แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล
- แบบบันทึกข้อมูลการตั้งครรภ์และการคลอด
- แบบสอบถามทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ของ De La Mora และ Russell (1999) มีข้อคำถามทั้งหมด 17 ข้อ
- แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะในตนเองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ของ Dennis (2003) แปลเป็นภาษาไทยด้วยเทคนิคการแปลย้อนกลับ โดยเบญจมาส ทัศนะสุภาพ (2549) มีข้อคำถาม 14 ข้อ
- แบบสอบถามการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากพยาบาล ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม แบ่งเป็นการสนับสนุน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอารมณ์ ด้านข้อมูล ข่าวสาร และด้านสิ่งของและบริการ มีข้อคำถาม 12 ข้อ ( เพิ่มเติมข้อคำถามเพื่อประเมินภาพรวม ของการสนับสนุนจากพยาบาลจำนวน 2 ข้อ ซึ่งไม่นำมาคิดคะแนน )
- แบบบันทึกการให้อาหารทารก
การหาความตรง (Validity) เสนอต่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน การหาความเที่ยง (Reliability)หาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ดังนี้
1) แบบสอบถามทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เท่ากับ 0.64
2) แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะในตนเองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เท่ากับ 0.87
3) แบบสอบถามการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากพยาบาล เท่ากับ 0.90
ผลการวิจัยพบว่า
- อายุของมารดาสามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 [Exp (B) = 1.102, 95%CI = 1.009-1.203]
- การสนับสนุนจากพยาบาล สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 [Exp (B) = 1.089, 95%CI = 1.021-1.161]
- เวลาที่เริ่มให้นมแม่ สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 [Exp (B) = 0.890, 95% CI = 0.821-0.965]
- ผลการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก พบว่าการรับรู้สมรรถนะในตนเองเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้ (p = 0.860)
- ผลการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติก พบว่าทัศนคติเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้ (p = 0.707)
- ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่สามารถทำนายความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้ (p = 0.120)
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
- ผลการศึกษาพบว่า อายุมารดา การสนับสนุนจากพยาบาล และเวลาที่เริ่มให้นมแม่สามารถทำนายโอกาสที่มารดาหลังผ่าตัดคลอดจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ดังนั้นพยาบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือ สนับสนุนมารดา ร่วมกับการนำทารกมาเริ่มดูดนมแม่เร็ว โดยเฉพาะในมารดาที่มีอายุน้อย เพื่อช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่าย เพื่อเป็นพื้นฐานในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป
- ผลการศึกษา พบว่าวันที่ 3 หลังผ่าตัดคลอด ผู้วิจัยประเมินปริมาณน้ำนมของกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 89.1 กลุ่มตัวอย่างมีน้ำนมมากพอ มีเพียงร้อยละ 10.9 เท่านั้นที่มีปริมาณน้ำนมน้อย ซึ่งขัดแย้งกับการรับรู้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 33.6 รับรู้ว่าปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอ จึงเสริมนมผสมให้ทารกในวันก่อนจำหน่าย ดังนั้นพยาบาลจึงควรที่จะประเมินการรับรู้ในเรื่องดังกล่าวของมารดา และอธิบายให้มารดาเข้าใจเพื่อป้องกันการเสริมนมผสมโดยไม่จำเป็น
ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
- ควรศึกษาในตัวแปรอื่นเพิ่มเติม เช่น ปัจจัยทางด้านสภาพร่างกาย ความเจ็บปวดแผลผ่าตัด ความอ่อนเพลีย ประเภทของการผ่าตัดคลอด ลักษณะของประสบการณ์เดิมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปริมาณน้ำนมในวันก่อนจำหน่าย การรับรู้ปริมาณน้ำนมของมารดา เป็นต้น
- ควรศึกษาเพิ่มเติมในอำนาจการทำนายของอายุมารดา ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทัศนคติ การรับรู้สมรรถนะในตนเอง เวลาที่เริ่มให้นมแม่ และการสนับสนุนจากพยาบาล ต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลที่ 1 ,3 และ 6 เดือน เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ในระยะยาวต่อไป
- ควรมีการศึกษาโปรแกรมการพยาบาลในการช่วยเหลือ สนับสนุนมารดา ร่วมกับการนำทารกมาเริ่มดูดนมแม่เร็ว โดยเฉพาะในมารดาที่มีอายุน้อย เพื่อช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่าย พร้อมทั้งเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
- การประเมินผลลัพธ์ของการศึกษา คือความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนจำหน่ายนั้นควรมีการประเมินเพิ่มเติมในประเด็นการอมหัวนมที่ถูกต้อง ร่วมกับการดูดนมแม่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความชัดเจนในผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้อาจารย์ที่เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ให้ความสนใจ เรื่องผลการศึกษาและมีข้อเสนอแนะเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในภาควิชาฯต่อไป
อ.จิตต์ระพี บูรณศักดิ์ เป็นผู้ถอดบทเรียน |
|
รายชื่ออาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- รศ. ศิริวรรณ สันทัด
- รศ. ยุวดี วัฒนานนท์
- รศ. นันทนา ธนาโนวรรณ
- ผศ. ทัศนีย์วรรณ พฤกษาเมธานันท์
- ผศ. นิตยา สินสุกใส
- ผศ. กันยรักษ์ เงยเจริญ
- ผศ. ฉวีวรรณ อยู่สำราญ
- ผศ. วาสนา จิติมา
- ผศ. ปิยะนันท์ ลิมเรืองรอง
- อ. อัจฉรา มาศมาลัย
- อ. พรทิพย์ คณานับ
- อ. ศุภาวดี วายุเหือด
- อ. วรรณา พาหุวัฒนกร
- อ. ฤดี ปุงบางกะดี่
- อ. รุ่งทิพย์ กาศักดิ์
- อ. พุทธิราภรณ์ หังสวนัส
- อ. กุลธิดา หัตถกิจพานิชกุล
- อ. จารุพร เพชรอยู่
- อ. อรวรรณ พินิจเลิศสกุล
- อ. จิตต์ระพี บูรณศักดิ์
- อ. จีรันดา อ่อนเจริญ
|