การจัดการความรู้
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับบุตรสาวและความตั้งใจในการละเว้นเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของวัยรุ่นหญิงไทยที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3”
คณะกรรมการพัฒนาอาจารย์และการจัดการความรู้ ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับบุตรสาวและความตั้งใจในการละเว้นเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของวัยรุ่นหญิงไทยที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3”โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรรยา เจริญสุข อาจารย์ประจำของภาควิชาฯ เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 เวลา 12.30 – 13.30 น. ห้อง 801/1 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างการสื่อสารของผู้ปกครองกับบุตรสาว ความเชื่อเรื่องการละเว้นเพศสัมพันธ์ ความเชื่อต่อบรรทัดฐานทางสังคมและความเชื่อเรื่องความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมการละเว้นเพศสัมพันธ์ต่อความตั้งใจในการละเว้นเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของวัยรุ่นหญิงไทยที่อายุ 12-16 ปี และกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้การขยายทฤษฎีการวางแผนพฤติกรรม ซึ่งเพิ่มตัวแปรการสื่อสารระหว่างพ่อแม่/ผู้ปกครองกับบุตรสาวเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสุ่มตามลำดับชั้น ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 523 คน กลุ่มตัวอย่างตอบแบบประเมินตนเอง จำนวน 3 ชุด ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับบุตรสาวเรื่องการละเว้นเพศสัมพันธ์ และแบบสอบถามการละเว้นเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หลังจากคัดเลือกแบบสอบถามที่ตอบคำถามไม่ครบถ้วน และตัดกลุ่มตัวอย่างที่เคยมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนออก พบว่ามีจำนวนแบบสอบถามที่สมบูรณ์ทั้งสิ้น 470 ราย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติขั้นพื้นฐาน และการวิเคราะห์อิทธิพล
ผลการวิจัยพบว่า แบบจำลองสุดท้ายที่ปรับมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์
โดยสามารถทำนายความผันแปรของความตั้งใจในการละเว้นเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนได้ ร้อยละ 33 ความเชื่อเรื่องความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ทำนายความตั้งใจในการละเว้นเพศสัมพันธ์ได้มากที่สุด ทั้งนี้พบว่าการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองกับบุตรสาว มีอิทธิพลโดยอ้อมทางบวกต่อความตั้งใจละเว้นเพศสัมพันธ์ผ่านความเชื่อต่อการละเว้นเพศสัมพันธ์ ความเชื่อต่อบรรทัดฐานทางสังคมและความเชื่อเรื่องความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ( β =0.20 , p<.001 ) และตัวแปรส่งผ่านทั้งสามนี้มีอิทธิพลโดยตรงทางบวกต่อความตั้งใจในการละเว้นเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ของวัยรุ่นหญิงไทยตอนต้นและตอนกลาง ( β = 0.25 , p < .001 , β = 0.27 , p < .001 และ β =0.41 , p <.001 ตามลำดับ )
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
ผลการศึกษาครั้งนี้ บ่งชี้ว่ารูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่ศึกษาอธิบายความตั้งใจละเว้นเพศสัมพันธ์ ในวัยเรียนของวัยรุ่นหญิงได้ ซึ่งความรู้นี้จะนำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพเพื่อละเว้นเพศสัมพันธ์ ในวัยเรียนโดยใช้ครอบครัวเป็นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย นอกจากนี้ยังพบว่าความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุมตนเอง มีอิทธิพลต่อความตั้งใจละเว้นเพศสัมพันธ์ ในวัยเรียนมากที่สุด ดังนั้นโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมดังกล่าว ควรเน้นให้วัยรุ่นหญิงเกิดความมั่นใจและเชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมตนเองให้ละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ในวัยเรียนได้
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้อาจารย์ที่เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ให้ความสนใจ เรื่องความสำคัญของการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน และมีข้อเสนอแนะเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในภาควิชาฯต่อไป
อ.จิตต์ระพี บูรณศักดิ์ เป็นผู้ถอดบทเรียน |
|
รายชื่ออาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- รศ. ศิริวรรณ สันทัด
- รศ. ยุวดี วัฒนานนท์
- ผศ. ทัศนีย์วรรณ พฤกษาเมธานันท์
- ผศ. นิตยา สินสุกใส
- ผศ. กันยรักษ์ เงยเจริญ
- ผศ. ฉวีวรรณ อยู่สำราญ
- ผศ. วาสนา จิติมา
- ผศ. ปิยะนันท์ ลิมเรืองรอง
- อ. อัจฉรา มาศมาลัย
- อ. พรทิพย์ คณานับ
- อ. ศุภาวดี วายุเหือด
- อ. วรรณา พาหุวัฒนกร
- อ. ฤดี ปุงบางกะดี่
- อ. รุ่งทิพย์ กาศักดิ์
- อ .พุทธิราภรณ์ หังสวนัส
- อ. กุลธิดา หัตถกิจพานิชกุล
- อ. จารุพร เพชรอยู่
- อ. อรวรรณ พินิจเลิศสกุล
- อ. จิตต์ระพี บูรณศักดิ์
- อ. จีรันดา อ่อนเจริญ
|