การจัดการความรู้
การเตรียมตัวเพื่อการคลอด (Childbirth Preparation)
ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ การเตรียมตัวเพื่อการคลอด (Childbirth Preparation) ในวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2555 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ธิติมา จำปีรัตน์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปได้ดังนี้
แนวคิดเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อการคลอดมีความเป็นมาอย่างไร?
การเตรียมตัวเพื่อการคลอดเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1933 และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และเริ่มเข้ามาในประเทศไทย โดยรองศาสตราจารย์กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล การเตรียมตัวเพื่อการคลอดนั้นมีวัตถุประสงค์ของการเตรียมตัวเพื่อการคลอด คือ
- เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์มีความรู้ในการคลอดบุตร
- เพื่อเตรียมสตรีตั้งตั้งครรภ์ให้สามารถใช้เทคนิคการบรรเทาความเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีตั้งครรภ์มีความมั่นใจและได้รับประสบการณ์ที่ดีในการคลอดบุตร
ทำไมจึงต้องมีการเตรียมตัวเพื่อการคลอด?
สตรีในเกือบทุกชาติทุกวัฒนธรรมมีการรับรู้หรือให้ความหมายกับการคลอดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดความเจ็บปวดที่สุดในชีวิต วัฒนธรรมไทยเปรียบการคลอดเหมือนภาวะออกศึกสงคราม คือ มีแต่ความไม่แน่นอน น่ากลัว ทุกข์ทรมานและอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ยิ่งใกล้ระยะคลอดก็จะยิ่งทวีความกลัวและความวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้เกิดการคลอดล่าช้าใช้เวลาในการคลอดยาวนานขึ้น การเตรียมตัวเพื่อการคลอดจะช่วยลดความวิตกกังวล ความกลัวและความเครียดที่เกิดขึ้นในระยะคลอดได้ สตรีที่ได้รับการเตรียมจะมีความมั่นใจในสมรรถนะของตนในการเผชิญกับภาวะเจ็บปวดในระยะคลอดได้ ซึ่งอิทธิพลด้านร่างกายที่ทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด เกิดจากการหดรัดตัวของลูก แรงดันในโพรงมดลูก การถูกดึงรั้งออกของกระดูกเชิงกราน กล้ามเนื้อและฝีเย็บ นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลด้านจิตใจและสังคม เกิดจากความไม่คุ้นเคย ความกลัว สับสน ความคาดหวังกับความเจ็บปวดและประสบการณ์ที่ผ่านมาของสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้จะแตกต่างกันในสตรีตั้งครรภ์แต่ละราย
แนวคิดการเตรียมสตรีตั้งครรภ์เพื่อการคลอดโดยวิธีธรรมชาติ (Natural childbirth)
1. Dick Read Method “Childbirth without Fear”
Dick Read (คศ. 1933) สูติแพทย์ชาวอังกฤษ เชื่อว่าการเจ็บครรภ์คลอดเกิดจากวงจรของความเจ็บปวด 3 อย่าง คือ ความกลัว ความเครียด และความเจ็บปวด การลดความเจ็บปวดคือการตัดวงจรของความเจ็บปวด โดยการลดความความกลัว โดยอาจจะสร้างความคุ้นเคย ให้ความรู้ คำแนะนำและกำลังใจกับสตรีตั้งครรภ์ หรือลดความเครียด โดยการจัดสถานที่ สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศให้ผ่อนคลาย อาจใช้เสียงดนตรีที่ผ่อนคลาย กลิ่นน้ำมันหอมระเหย หรือใช้แสงที่พอเหมาะกับการพักผ่อน
2. Lamaze Method (คศ.1951) ลามาซ (Ferdinand Lamaze) สูติแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้นำเสนอวิธีการเตรียมตัวเพื่อการคลอดด้วยกลวิธีป้องกันทางจิต (Psychoprophylaxis) โดยนำพื้นฐานความรู้จากทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไขของ Pavlov มาใช้ วิธีการของลามาซประกอบด้วยหลักการพื้นฐาน ดังนี้
ClassicLamaze ประกอบด้วย 3 กระบวนการ คือ
- Conditional การสร้างเงื่อนไขให้ผู้คลอด เช่น การใช้เทคนิคการหายใจ เมื่อมีการหดรัดตัวของมดลูกให้หายใจเข้าลึกๆ และเป่าลมออกทางปาก 6-8 ครั้งต่อนาที
- Concentration (Focusing) การมุ่งจุดสนใจอยู่ที่การใช้เทคนิคการหายใจเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจออกจากความเจ็บปวด
- Discipline ผู้คลอดจะต้องสามารถปฎิบัติการใช้เทคนิคการหายใจได้เอง โดยไม่ต้องมีผู้กำกับ
Adapted Lamaze คือ การให้ความรู้แก่ผู้คลอด และให้ผู้คลอดได้ฝึกใช้เทคนิคการบรรเทาความเจ็บปวดต่างๆ โดยสตรีตั้งครรภ์ต้องเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น การสร้างจินตภาพ คือ จินตนาการถึงภาพที่สวยงาม หรือใบหน้าของบุตร หรือการใช้ดนตรีบำบัด โดยมีคำแนะนำว่าไม่ควรใช้ดนตรีที่มีจังหวะช้าเกินไป เนื่องจากจะทำให้จังหวะของการหดรัดตัวของมดลูกช้าตามไปด้วย และควรเป็นดนตรีบรรเลง จึงจะเหมาะสมกับระยะแรกของการคลอด
แนวคิดของลามาซแพร่หลายมากในแถบตะวันตก มีผู้นำมาใช้มากมายและจากผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลของการเตรียมตัวเพื่อคลอดด้วยวิธีการของลามาซ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา เช่น เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการโภชนาการ การให้นมทารกแรกเกิดและภาวะเสี่ยงต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติตนในระยะ หลังคลอดเป็นต้นและเทคนิคต่างๆ เช่นเทคนิคการหายใจปรับให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไม่ต้องหายใจตามรูปแบบอย่างเคร่งครัด เป็นต้น
แนวคิดการเตรียมสตรีตั้งครรภ์เพื่อการคลอดด้วยวิธีการคลอดด้วยตนเอง (Active Birth)
ความหมายของการคลอดด้วยตนเอง หมายถึงการคลอดที่ดำเนินตามกระบวนการทางธรรมชาติและสัญชาตญาณของการเป็นผู้ให้กำเนิด โดยผู้คลอดเป็นผู้กำหนดปัจจัยสนับสนุนการคลอดและกระทำด้วยตนเองรวมทั้งใช้สิทธิของตนในการตัดสินใจทางเลือกเมื่อจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาหรือการช่วยเหลือ ปัจจัยสนับสนุนการคลอดตามกระบวนการธรรมชาติประกอบด้วยกาย จิต สิ่งแวดล้อมและสังคม การคลอดด้วยตนเองจึงเป็นวิธีการคลอดที่สามารถนำมาอธิบายให้เห็นว่าสตรีที่ได้รับการเสริมพลังอำนาจในการคลอดจะรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน สามารถใช้สิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลที่มีผลต่อตนเองและบุตร รับรู้เรื่องและสามารถควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดการคลอดโดยใช้ความรู้สามารถของตนเอง
การเตรียมสตรีตั้งครรภ์เพื่อการคลอดในแนวคิดนี้ สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับความรู้และการฝึกทักษะที่จะช่วยให้การคลอดดำเนินไปตามธรรมชาติใน 4 เรื่องด้วยกัน คือ
1. การเคลื่อนไหว (Movement) และท่าคลอด (Position)
2. การหายใจ (Breathing)
3. การบริหารร่างกาย (Exercise)
4. การนวด (Massage)
นอกจากนี้ยังแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการบรรเทาความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยา (Non pharmacologic methods of pain relief) ได้แก่
- เทคนิคการผ่อนคลาย (Relaxation Technique)
- เทคนิคการหายใจ (Breathing Technique)
- เทคนิคการลูบหน้าท้อง (Effleurage)
- การนวด (Massage)
- ดนตรีบำบัด (Music Therapy)
- เสาวคนธบำบัด (Aroma Therapy)
- การสัมผัสเพื่อการรักษา (Therapeutic Touch)
- การใช้จินตภาพ (Imagination)
- การใช้ความร้อนและความเย็น (Heat and Cold)
- ธารบำบัด (Hydrotherapy)
อาจารย์จารุพร เพ็ชรอยู่ ผู้ลิขิต |