การจัดการความรู้ภาควิชา การพยาบาลสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา วันที่ 23 เมษายน 2557 เวลา 8.00-9.00 น. เรื่อง "การคลอดไหล่ยาก"
คณะกรรมการพัฒนาอาจารย์และการจัดการความรู้ ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง "การคลอดไหล่ยาก"โดยมี ผศ.วาสนา จิติมา อาจารย์ประจำของภาควิชาฯ เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 23 เมษายน2557 เวลา 8.00-9.00น.ห้องประชุม 1103/1-2 ชั้น11 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นิยามการคลอดไหล่ยาก คือ ภาวะที่ภายหลังศีรษะทารกคลอดออกมาแล้ว บริเวณไหล่มีการติดแน่นที่บริเวณใต้รอยต่อกระดูกหัวเหน่า ทำให้ไม่สามารถคลอดส่วนของลำตัวทารกได้ตามวิธีการช่วยคลอดปกติ นับเป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติกรรมที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่มารดาและทารกได้
ปัจจัยเสี่ยง
- ทารกน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวาน
- สตรีตั้งครรภ์อ้วน - ตั้งครรภ์เกินกำหนด
- กราฟการคลอดมีความผิดปกติ
- มีประวัติคลอดติดไหล่
- ไม่มีปัจัยเสี่ยง
ภาวะแทรกซ้อนต่อสตรีตั้งครรภ์
- ตกเลือดหลังคลอด
- มดลูกแตก
- ช่องคลอดฉีกขาดมาก
ภาวะแทรกซ้อนต่อทารก
- มีภาวะขาดออกซิเจน
- กระดูกไหปลาร้า/ต้นแขนหัก
- บาดเจ็บต่อ brachial plexus
- เสียชีวิต
การวินิจฉัยว่ามีภาวะคลอดไหล่ยาก
ภายหลังศีรษะทารกเกิดถ้าโน้วไหล่บนไม่ลงประมาณ 2 ครั้งให้พิจารณาว่ามีอาการแสดงดังนี้หรือไม่
- ขณะมดลูกหดรัดตัวเมื่อให้แม่ช่วยเบ่งแล้วไหล่บนไม่คลอดเพิ่ม
- หลังแม่เบ่งศีรษะทารกเลื่อนกลับเข้าไปที่ฝีเย็บแม่คล้ายหลังเต่า(turtle sign) แสดงว่ามีภาวะคลอดไหล่ยาก 2
แนวทางการดูแล
เมื่อเกิดภาวะคลอดไหล่ยากให้ดำเนินการดังนี้
A Ask for help
L Lift the legs
A Anterior shoulder disimpaction
R Rotation of posterior shoulder
M Manual removal posterior arm
Ask for help (ร้องขอความช่วยเหลือ)
ในทุกรายของการช่วยคลอดต้องเตรียมพร้อม"ช่วยคลอดไหล่ยาก"เสมอ พยาบาลในห้องคลอดจึงควรมีการแบ่งบทบาทให้ชัดเจนว่าเมื่อเกิดภาวะนี้แต่ละคนจะมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้คลอดอย่างไร อาจมีการตั้งรหัสที่ทำให้ทุกคนเข้าใจเมื่อเกิดภาวะนี้สิ่งแรกและสำคัญที่สุดคือการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่สามารถมาให้การช่วยได้ทันที และบอกให้ผู้คลอดหยุดเบ่ง
Lift the legs (McRobert's maneuver)
ผู้ช่วยคลอดจัดท่าผู้คลอดโดยยกขาผู้คลอดขึ้นและงอพับเข้าไปกับหน้าท้องร่วมกับการจัดท่าให้ศีรษะอยู่ในแนวราบ เพื่อเปลี่ยนมุมของอุ้งเชิงกราน
Anterior shoulder disimpaction(Suprapubic pressure)
เป็นการทำคลอดไหล่หน้าให้หลุดออกมาจากรอยต่อกระดูกหัวหน่าว ก่อนทำต้องตัดฝีเย็บเพิ่มขึ้น ผู้ช่วยใช้สันมือกดลงบริเวณเหนือหัวหน่าว (ตรงกับสะบักหลังของทารก)อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับผู้ทำคลอดดึงศีรษะของทารกลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ออกแรงดึงศีรษะทารกอย่างแรง ไม่โยกศีรษะทารกไปมาและไม่ให้กดดันยอดมดลูก ส่วนใหญ่ทำร่วมกับMcRobert's maneuver ซึ่งมักได้ผลร้อยละ 91
ผู้ทำคลอดอาจสอดมือเข้าไปในช่องคลอดผลักด้านหลังของไหล่บนเพื่อให้ไหล่งองุ้มเข้าหาหน้าอก (Rubin's maneuver)
Rotation of posterior shoulder (Woods maneuver)
เป็นการทำให้ไหล่ทารกคลอดโดยการหมุนไหล่หลังมาข้างหน้าแล้วสอดมือเข้าไปทางด้านหลังของไหล่หลัง ออกแรงผลักหลังหมุนทารกแบบเกลียวไปทางด้านหน้าจนไหล่หลังที่ผลักเปลี่ยนมาอยู่ด้านหน้าใต้รอยต่อกระดูกหัวหน่าว
Manual removal posterior arm
เป็นการทำคลอดไหล่หลังก่อนโดยสอดมือเข้าไปปาดแขนหลังผ่านทางหน้าอกทารกแล้วทำคลอดแขนและไหล่หลัง จึงทำคลอดไหล่หน้าต่อ ไม่นิยมเพราะโอกาสเสี่ยงต่อการหักของกระดูกต้นแขนของทารกได้มาก
การบันทึกการช่วยคลอด มีความสำคัญในการให้การดูแลต่อเนื่องและเพื่อเป็นหลักฐานในกรณีเกิดคดีความได้ ข้อมูลที่ควรมี ได้แก่
- เวลา : คลอดศีรษะ, ไหล่, เกิด
- การตัดฝีเย็บ
- เวลาที่ตัดสินว่ามีภาวะคลอดไหล่ยาก
- Maneuver ที่ใช้ เรียงตามลำดับ และระยะเวลา
- บุคลากรที่ช่วย
- ลักษณะของทารก : ท่า น้ำหนักตัว สภาพแรกเกิด APGAR Score ลักษณะการหายใจ การเคลื่อนไหวของแขนและขา ร้อยละของออกซิเจนในเลือด
ผศ.วาสนา จิติมา เป็นผู้ถอดบทเรียน |
|
รายชื่ออาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ |
1. รศ. ศิริวรรณ สันทัด |
2. รศ. ยุวดี วัฒนานนท์ |
3. ผศ. ทัศนีย์วรรณ พฤกษาเมธานันท์ |
4. ผศ . นิตยา สินสุกใส |
5. ผศ. กันยรักษ์ เงยเจริญ |
6. ผศ . วาสนา จิติมา |
7. ผศ. จรรยา เจริญสุข |
8. ผศ . ปิยะนันท์ ลิมเรืองรอง |
9. อ.ศุภาวดี วายุเหือด |
10. อ.ฤดี ปุงบางกะดี่ |
11. อ.รุ่งทิพย์ กาศักดิ์ |
12. อ.พุทธิราภรณ์ หังสวนัส |
13. อ.กุลธิดา หัตถกิจพานิชกุล |
14. อ.จิตต์ระพี บูรณศักดิ์ |
15.อ.อรวรรณ พินิจเลิศสกุล |
16.อ.จีรันดา อ่อนเจริญ |
17.อ.รุ่งนภา รู้ชอบ |
18.อ.นรินทร์ทิพย์ อนันตกุลนธี |
|