กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชื่อเรื่อง : ผลของโปรแกรมส่งเสริมการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ร่วมกับการสื่อสารเรื่องเพศของผู้ปกครอง ต่อการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
อาจารย์กุลธิดา หัตถกิจพาณิชกุล วิทยากร
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ร่วมกับการสื่อสารเรื่องเพศของผู้ปกครองต่อทัศนคติ การรับรู้บรรทัดฐานทางสังคม ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม และความตั้งใจเกี่ยวกับการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และพฤติกรรมการสื่อสารเรื่องเพศของผู้ปกครอง ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลในนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และผู้ปกครองจำนวน 122 คู่ โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม, กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมสำหรับนักเรียนหญิงเท่านั้น และกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมสำหรับนักเรียนหญิงและผู้ปกครองควบคู่กัน
โปรแกรมดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นตามกรอบแนวคิดทฤษฎีวางแผนพฤติกรรม (Ajzen, 2015) ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรมสำหรับผู้ปกครอง ที่มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการสื่อสารกับบุตรสาว ควบคู่ไปกับ 3 กิจกรรมสำหรับนักเรียนหญิง เพื่อส่งเสริมความตั้งใจในการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ โดยใช้ระยะเวลาทั้งหมด 4 สัปดาห์ และติดตามประเมินผลในสัปดาห์ที่ 5 และสัปดาห์ที่ 9 และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบผลคะแนนการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ และพฤติกรรมการสื่อสารเรื่องเพศระหว่างกลุ่มนักเรียนหญิงและผู้ปกครองทั้งหมดสามกลุ่ม โดยใช้สถิติ Generalized Estimating Equations (GEE)
ผลการศึกษาพบว่า คะแนนการรับรู้บรรทัดฐานทางสังคม ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม รวมถึงความตั้งใจในการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มนักเรียนหญิงที่ได้รับโปรแกรมควบคู่ดังกล่าว เพิ่มสูงขึ้นและมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทั้งสัปดาห์ที่ 5 และสัปดาห์ที่ 9 (p < .05) นอกจากนี้ผู้ปกครองของนักเรียนหญิงที่เข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าว มีคะแนนพฤติกรรมการสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรสาวเพิ่มขึ้น และสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญ (p < .05) ในสัปดาห์ที่ 9 จากผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมพฤติกรรมการสื่อสารเรื่องเพศของกับผู้ปกครองกับบุตรสาววัยรุ่นมีส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ การรับรู้บรรทัดฐานทางสังคม ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม รวมถึงความตั้งใจในการละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ของนักเรียนหญิงวัยรุ่น จึงควรมีการนำรูปแบบการจัดกิจกรรมอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารของผู้ปกครองควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นหญิงต่อไป
|