ทำKM แล้วได้อะไร ?
คณะกรรมการพัฒนาอาจารย์และการจัดการความรู้ ภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง“ทำKM แล้วได้อะไร ?” โดยมี ผศ.ดร.วรวรรณ วาณิชเจริญชัย เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 เวลา 13.00-14.00น.ห้อง 711 ชั้น 7 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
UKM : University Knowledge Management คืออะไร
UKM : University Knowledge Management หรือ เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ในระยะเริ่มก่อตั้ง ประกอบด้วยสมาชิก 6 แห่ง คือ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และสถาบันอุดมศึกษา 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่าง มหาวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และการดำเนินการจัดการความรู้ในสถาบันตนเองและระหว่างสถาบันของ สมาชิกเครือข่าย แสวงหา ศึกษา เรียนรู้เครื่องมือที่ใช้ในการจัดการความรู้ ปรึกษาหารือและจัดทำแผนงาน/โครงการ ศึกษาวิจัย จัดสัมมนา ฝึกอบรม จัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน จนถึงปี2551 มหาวิทยาลัยได้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ให้สนองตอบ ต่อประเด็นยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งเพื่อการจัดการความรู้ อีกทั้งมหาวิทยาลัยได้มีนโยบายคุณภาพที่มุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานระดับคณะมีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ มีการสร้างเครือข่ายหรือชุมชนแนวปฏิบัติทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้สู่ความเป็นเลิศและสร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาระบบบริหารงานประจำสู่งานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เข้าใจเหตุผลของการทำKM และนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดลเรื่องการจัดการความรู้
ทำKM แล้วได้อะไร ?
การจัดการ ความรู้ คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคล หรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงด โดยที่ความรู้มี 2 ประเภท คือ
1. ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ บางครั้ง จึงเรียกว่าเป็นความรู้แบบนามธรรม
2. ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม
การจัดการความรู้ คือ
(1) การกำหนดความรู้หลักที่จำเป็นหรือสำคัญต่องานหรือกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กร
(2) การเสาะหาความรู้ที่ต้องการ
(3) การปรับปรุง ดัดแปลง หรือสร้างความรู้บางส่วน ให้เหมาะต่อการใช้งานของตน
(4) การประยุกต์ใช้ความรู้ในกิจการงานของตน
(5) การนำประสบการณ์จากการทำงาน และการประยุกต์ใช้ความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ออกมาบันทึกไว้
(6) การจดบันทึก แก่นความรู้ สำหรับไว้ใช้งาน และปรับปรุงเป็นชุดความรู้ที่ครบถ้วน เหมาะต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
เป้าหมายของการจัดการความรู้ คือ การที่กลุ่มคนที่ดำเนินการจัดการความรู้ร่วมกัน มีชุดความรู้ของตนเอง ที่ร่วมกันสร้างเอง สำหรับใช้งานของตน
สรุป ทำ KM แล้วได้อะไร ได้เป้าหมายของการทำงาน ได้พัฒนาคนและองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ สุดท้ายได้ความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ การเอื้ออาทรในหมู่คนที่ทำงานร่วมกัน |