เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา งานส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการอบรมเรื่อง "จริยธรรมการวิจัยในคน" โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ฟองคำ ติลกสกุลชัย และ ผศ.ดร.วรรณา พาหุวัฒนกร ประธานและเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะพยาบาลศาสตร์ มาให้ความรู้แก่คณาจารย์ภายในคณะฯ ซึ่งสรุปสาระสำคัญในการอบรม มีดังนี้
จริยธรรมการวิจัยในคน หมายถึง การศึกษาค้นคว้าวิจัยกับบุคคลที่ยินดีเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ ปราศจากการบังคับ หรือจูงใจหลังจากได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับโครงการวิจัยโดยได้รับการพิทักษ์สิทธิ์ ความปลอดภัย ความยุติธรรม อย่างมีศักดิ์ศรี
การวิจัยในคน เป็นการศึกษาถึงการตอบสนองในทางร่างกาย, จิตใจ หรือสังคมของผู้เข้าร่วมการวิจัย (ผู้ป่วยหรืออาสาสมัครที่มีสุขภาพดี) ทั้งนี้หมายรวมถึง การสังเกตุพฤติกรรม การมีหรือไม่มี intervention ในการศึกษา และการศึกษาข้อมูลในเวชระเบียน หรือ specimen ต่างๆ ที่สามารถระบุตัวตนของเจ้าของได้
หลักการของ The Nuremberg Code มี 10 ข้อ ได้แก่ 1) ผู้เข้าร่วมการวิจัยต้องได้รับการบอกกล่าวข้อมูลที่ครบถ้วนและเข้าร่วมการวิจัยโดยสมัครใจ 2) การศึกษาต้องให้ผลประโยชน์ที่ดีแก่สังคม ซึ่งวิธีการอื่นไม่สามารถทำได้ 3) ต้องมีการศึกษาในสัตว์มาก่อน 4) การศึกษานั้นต้องหลีกเลี่ยงการเกิดการได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ 5) ไม่ทำการศึกษา หากคาดว่าการศึกษานั้นจะทำให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยพิการหรือตาย 6) ความเสี่ยงที่เกิดจากการศึกษาต้องไม่มากกว่าผลประโยชน์ที่ได้ 7) ต้องมีมาตการที่ดีในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมการวิจัย 8) ผู้วิจัยต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ศึกษา 9) ผู้เข้าร่วมการวิจัยสามารถถอนตัวออกจากโครงการได้ และ 10) หากในระหว่างทำการศึกษาพบว่าผลการศึกษาจะทำให้ผู้เข้าร่วมการิวจัยบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต ต้องยุติการศึกษานั้นทันที
หลักการของ The Declaration of Helsinki ได้แก่ การทดลองในมนุษย์ต้องอยู่บนพื้นฐานจากการทดลองในห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลองก่อน, โครงการร่างการวิจัยต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการที่เป็นอิสระ, ต้องมีให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและมีการขอความยินยอมเข้าร่วมการิวจัย, ผู้วิจัยต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ทำการวิจัย, ต้องมีการประเมินประโยชน์จากการวิจัยและความเสี่ยงที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะได้รับ, ความเป็นส่วนตัวในด้านต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลในทางจิตใจ และการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมของผู้เข้าร่วมการวิจัย และการเผยแพร่ผลการศึกษาที่ได้จากการวิจัย ซึ่งจะต้องรายงานผลเป็นภาพรวม ต้องไม่รายงานแล้วทำให้สามารถสืบกลับไปถึงผู้ให้ข้อมูลได้
หลักการของ The Belmont Report ได้แก่ การให้ความความเคารพในบุคล โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เข้าร่วมการวิจัย, ประโยชน์ที่ได้รับ โดยต้องไม่ทำให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยเกิดอันตราย ในการวิจัยนั้นต้องทำให้ได้ประโยชน์สูงสุดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมการวิจัยน้อยที่สุด และความยุติธรรม โดยต้องมีการกระจายทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยทุกคนเท่าเทียมกัน
ในส่วนของประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยได้แห่งชาติ ได้กำหนดจรรยาบรรณนักวิจัยไว้ 9 ข้อ ดังนี้ 1) ซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ 2) ตระหนักถึงพันธกรณีในการทำวิจัยตามข้อตกลงที่ทำไว้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยและต่อหน่วยงานต้นสังกัด 3) มีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัย 4) รับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัยไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต 5) เคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย 6) มีอิสระทางความคิดโดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย 7) นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ 8) เคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น 9) มีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ ในส่วนของแนวปฏิบัติในการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล การเขียนแบบเสนอโครงการ เอกสารชี้แจงผู้เข้าร่วมการวิจัย หนังสือแสดงเจตนายินยอม และการดำเนินการหลังได้รับการรับรองจากคณะกรรมการฯ ผู้วิจัยสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลต่างๆ ได้ที่ website: http://www.ns.mahidol.ac.th/english/TH/IRB/index.html หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-441-5333 ต่อ 2531-2 |